เศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังก้าวไม่พ้น K-Shape เพิ่มความเหลื่อมล้ำ คนไทยติดกับดักหนี้ "จนข้ามรุ่น"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังก้าวไม่พ้น K-Shape เพิ่มความเหลื่อมล้ำ คนไทยติดกับดักหนี้ "จนข้ามรุ่น"

Date Time: 23 ธ.ค. 2567 09:43 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • เศรษฐกิจไทย ปี 2568 ยังก้าวไม่พ้น K-Shape เพิ่มความเหลื่อมล้ำ นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ “คนรายได้น้อย” ติดกับดักหนี้
  • ส่งต่อความ “ยากจน” ข้ามรุ่น หนี้ครัวเรือนคลี่คลายช้า ฉุดโอกาส "กลุ่มรายได้น้อย" เลื่อนชั้นทางสังคม

Latest


นิด้าโพลเผยว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา สิ่งที่ประชาชนคนไทย “เหนื่อยหน่าย” มากที่สุดในรอบปี ก็คือปัญหาเศรษฐกิจ เพราะส่งผลต่อรายได้และความเป็นอยู่ ค่าครองชีพสูง มีปัญหาทางการเงิน จึงทำให้ความสุขลดลง

ขณะผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุ ผู้บริโภคกว่า 60% มองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าแย่ลง โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้ต่ำ สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และมีแนวโน้มปรับลดการใช้จ่ายลง เพราะไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต

ประเมิน “เศรษฐกิจไทย” ส่อเติบโตต่ำลงในระยะสั้น แต่มีปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เพราะครัวเรือนไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งรุนแรงมาก

โดยครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอมีรายได้ไม่พอรายจ่าย และมีรายได้เข้ามาไม่สม่ำเสมอ เมื่อครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้ขาดรายได้ โลกของครัวเรือนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่าครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง

นักวิชาการ ชี้ เศรษฐกิจฟื้นช้า เพิ่มเหลื่อมล้ำ กับดักเลื่อนชนชั้น "กลุ่มรายได้น้อย"

สอดคล้องมุมมองความเห็นของ รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะยังไม่สามารถก้าวข้ามพ้นการฟื้นตัวแบบรูปตัวเค K-Shape (แต่ละกลุ่มธุรกิจฟื้นตัวไม่เท่ากัน) ที่ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอีก ไทยเป็นประเทศที่มีระดับการเลื่อนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ (Social and Economic Mobility Index) ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน

ต่ำกว่าเวียดนาม ต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย ในประเทศของเรา มีถึง 3 ระบบและสภาวะที่แตกต่างกันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

1. เศรษฐกิจนอกระบบ
2. เศรษฐกิจของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและยากจน
3. เศรษฐกิจของกลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจผูกขาด

โดยโอกาสของคนยากจนและครัวเรือนรายได้น้อยจะสามารถเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตัวเองได้ไม่ถึง 40%

อีกทั้งคนเหล่านี้ก็จะอยู่ในกับดักของความเป็นหนี้และความยากจนข้ามรุ่น หากไม่สามารถทำให้จีดีพีขยายตัวได้เต็มศักยภาพและกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมายังคนส่วนใหญ่ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนึ่งประเทศหลายระบบได้

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายหลายมาตรฐานทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงความยุติธรรมและโอกาสทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ปัญหาหนี้ครัวเรือน คลี่คลายช้า ปีหน้า "น่าห่วง"

ทั้งนี้ SCB EIC Consumer survey ยังพบว่า ผู้บริโภคทุกกลุ่มมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมปีหน้าจะกระทบตนเองผ่านค่าครองชีพเป็นหลัก แม้กระทั่งกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 100,000 บาทต่อเดือน ยังมีสัดส่วนมากถึง 4 ใน 5 ที่มองว่าตนเองจะได้รับผลกระทบ

ในระยะข้างหน้า ประเด็นที่น่าจับตาคือ ข้อมูลเครดิตบูโรชี้ว่า คุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง สะท้อนว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนจะคลี่คลายได้ช้าเนื่องจากลูกหนี้บุคคล NPL มากกว่า 70% ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้สม่ำเสมอ

โดยลูกหนี้บุคคล SM (กลุ่มค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน) ราว 70-80% มีโอกาสจะกลายเป็น NPL โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่ออื่นๆ

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ