นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 2569-73 ให้ ครม.อนุมัติ โดยจะเน้นรักษาการขาดดุลให้อยู่ระดับเดิมหรือลดลง เพื่อรักษาสมดุลการคลัง และยังคงสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไว้ที่ 70% ตามกรอบวินัยการเงินการคลังเดิม เนื่องจากยังไม่มีเหตุจำเป็นต้องกู้เงินใหม่ "การจัดทำแผนการคลังคือต้องให้มีการใช้งบฯ อย่างถูกต้อง เหมาะสมและรักษาสถานะการเงินการคลังให้มีความมั่นคง ที่ผ่านมาไทยทำงบฯ ขาดดุลไว้มาก แผนการคลังใน 4 ปีข้างหน้า ต้องทำให้การขาดดุลลดลงเรื่อยๆ จนนำไปสู่งบฯ สมดุล”
นอกจากนี้เตรียมทบทวนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ โดยจะเน้นงบฯ ลงทุนมากขึ้น เพราะหากลงทุนเพิ่ม จะส่งให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่ม เศรษฐกิจก็จะขยายตัวได้ แต่หากไม่มีการลงทุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตยาก จึงต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน "การลดงบฯ รายจ่ายที่ไม่จำเป็น ผมจะนั่งหัวโต๊ะเพื่อสั่งการและลงลึกในรายละเอียดของงบฯ รายจ่าย ปัจจุบันรายจ่ายประจำที่มีสัดส่วนสูงคือ อัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นและกำลังคนราชการที่เพิ่มขึ้น ต้องหารือกับสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) เพื่อสร้างสมดุล”
นายพิชัยกล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่การรัดเข็มขัด แต่ต้องสู้เพื่อเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยต้องเร่งเครื่องจักรเศรษฐกิจ 4 เครื่อง คือ การท่องเที่ยว, การบริโภคภาคเอกชน, การลงทุนและการส่งออกต้องเพิ่มขึ้น ต้องเร่งให้เกิดผลจริงปีหน้า ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกเป็นเรื่องจำเป็น ตนยอมเจ็บตัวกับเรื่องนี้ เพราะคุ้มค่า เพื่อเตือนให้รู้ว่าเรื่องนี้ไม่ทำไม่ได้ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้รัฐบาลจะสามารถนำมาจัดสรรงบฯ เพื่อชดเชยให้คนที่มีรายได้น้อย ส่วนจะปรับโครงสร้างภาษีได้เมื่อใดนั้น ตอบไม่ได้แต่ต้องทำ