SCB EIC ชี้เศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.4% ต่ำกว่าศักยภาพ ความเหลื่อมล้ำสูง  ดันคนรวยยิ่งรวย-คนจนยิ่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

SCB EIC ชี้เศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.4% ต่ำกว่าศักยภาพ ความเหลื่อมล้ำสูง ดันคนรวยยิ่งรวย-คนจนยิ่ง

Date Time: 20 ธ.ค. 2567 18:16 น.

Video

บัญชีม้า เกลื่อนเมือง คนไทยอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? | Money Issue

Summary

  • SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยขาลง ปี 68 โต 2.4% ต่ำกว่าระดับศักยภาพ ครึ่งปีหลังเตรียมรับแรงกระแทกนโยบาย Trump 2.0 สินค้าจีนตีตลาดกดดันการส่งออก กังวลปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผลักดันเศรษฐกิจไทยมีโลกสองใบ แบ่งแยกคนรวย-คนจน

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน กลยุทธ์องค์กร เผยมุมมองเศรษฐกิจ และธุรกิจไทยในปี 2568 โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วง “ขาลง”โดยคาดว่า การบริโภคภาคเอกชน จะเติบโตชะลอลงที่ 2.1% ในปี 2568 จากระดับ 5% ในปีนี้ เช่นเดียวกับการส่งออกเติบโต 2% จากระดับ 3.9% ในปีนี้ จากปัญหาสินค้าจีนตีตลาดและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ด้านการท่องเที่ยวยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่า จะลดลงเหลือ 38 ล้านคน จากเป้าหมายเดิมที่ 40 ล้านคน 

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบมาตรการกีดกันการค้าของ Trump 2.0 ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง เพราะไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งกว่า 70% ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ จะตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้าและต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศแทน อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ 

ส่งผลให้ในปี 2568 เศรษฐกิจจะขยายตัวชะลอลงที่ 2.4% ซึ่งต่ำกว่าระดับศักยภาพ 2.7% ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเศรษฐกิจติดลบ ซึ่งจะต้องมีมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำลงไปอีก

สำหรับการคาดการณ์กรณีร้ายแรงสุด ซึ่งความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ทวีความรุนแรง กว่าที่คาดไว้ ลามมายังเศรษฐกิจจีน และส่งผ่านผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับผลกระทบจากภาคเศรษฐกิจจริงไปยังภาคการเงิน ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะการเงินตึงตัว ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ จากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ด้อยลง โดยคาดว่า ปี 2568 การเติบโตของสินเชื่อมีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตต่ำกว่า 2%

เศรษฐกิจไทย บนโลก 2 ใบ “คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน”

ความท้าทายภายนอกและความอ่อนแอภายในของประเทศไทยกำลังสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงในระยะสั้นและมีปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว จะนำพาให้เศรษฐกิจไทยอยู่บนโลก 2 ใบ ซึ่งประชากรไทยจะถูกแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

โลกใบแรก คนที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง อาศัยอยู่ในระบบเศรษฐกิจใหม่

โลกใบที่สอง คนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ อาศัยอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบเก่า

ซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยอาศัยอยู่ในโลกใบที่สอง ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยมีโลก 2 ใบที่ความเป็นอยู่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่จะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมในอนาคต ข้อมูลจาก World Economic Forum ซึ่งศึกษาการเลื่อนชั้นทางสังคม พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนโอกาสการเลื่อนชั้นทางสังคมต่ำกว่าภูมิภาคอาเซียน

เมื่อดูการเลื่อนชั้นทางสังคมของภาคธุรกิจ พบว่า ในระยะยาว บริษัทขนาดเล็กมีโอกาสรายได้เพิ่มขึ้น และขยับสถานะเป็นธุรกิจใหญ่น้อยลง แม้ช่วงโควิดแนวโน้มความเป็นไปได้จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่เป็นเพราะมาตรการสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาล สอดคล้องกับอัตราการเลิกกิจการของธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น

ขัดแย้งกับรายได้ต่อหัวประชากรที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในอนาคต โดยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว รายได้ต่อหัวประชากรปรับดีขึ้นเฉลี่ย 6% ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนที่มีฐานะการเงินเข้มแข็งซึ่งอาศัยอยู่ในโลกใบแรก

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงในโครงสร้างทางสังคมได้อย่างเสรี ข้อจำกัดเหล่านี้นำพาให้เศรษฐกิจไทยอยู่บนโลก ‘สองใบ’ ที่แตกต่างกันใน 3 มิติ คือ

  1. มิติ: อ่อน-แข็ง โลกสองใบของครัวเรือนฐานะการเงินอ่อนแอกับครัวเรือนฐานะการเงินเข้มแข็ง สะท้อนครัวเรือนไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งรุนแรงมาก โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ มักมีรายได้ไม่พอรายจ่าย และมีเงินออมไม่พอ เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้ขาดรายได้ ครัวเรือนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่าครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง รวมถึงยังมีโอกาสเป็นหนี้สูง เนื่องจากไม่กันชนทางการเงินรองรับรายจ่ายที่ไม่คาดคิด
  2. มิติ: เก่า-ใหม่ โลกสองใบของภาคการผลิตโลกเก่ากับโลกใหม่ ภาคการผลิตโลกเก่าไม่ได้เติบโตไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี หรือจะเผชิญความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ภาคการผลิตโลกใหม่มีโอกาสเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงน้อยกว่า
  3. มิติ: ใหญ่-เล็ก โลกสองใบของธุรกิจใหญ่กับธุรกิจเล็ก กำไรของธุรกิจขนาดเล็กมีความผันผวนมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ผ่านมารายได้ธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วง COVID-19 ไม่ได้ลดลงเลย และสามารถเติบโตได้เกือบ 10% หลังจากวิกฤตสิ้นสุดลง ในทางตรงข้ามรายได้ของธุรกิจขนาดเล็กหดตัวราว 2-3% ในช่วง COVID-19 และยังไม่ฟื้นตัว

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ