แม้หลายสำนักเศรษฐกิจจะคาดการณ์ว่า แนวโน้ม “เศรษฐกิจไทย” ปี 2568 จะยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐ
แต่อย่างไรก็ตาม อาจเป็นการโตในอัตราที่ “ต่ำ” และ “ชะลอตัว” ภายใต้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า ยุคทรัมป์ 2.0 ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจถึงเวลาตั้งรับ! โดยเฉพาะการทำให้ “สินค้าจีน” ทะลักเข้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนและไทยมากขึ้น
สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า ช่วงปี 2568 มีหลายปัจจัยที่ส่อกดดันการเติบโตของธุรกิจ ได้แก่
- เศรษฐกิจเสี่ยงโตชะลอ โดยคาดว่าปี 2568 การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตแค่ 2.4% ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่จะโต 4.6%
- แข่งรุนแรงต่อเนื่องกับสินค้านำเข้า โดย 1 ใน 4 ของสินค้านำเข้าของไทยมาจากจีน
- สินค้านำเข้ากดดันให้อัตราการใช้กำลังการผลิต 10 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 58% ลดลงต่อเนื่อง
- สังคมสูงอายุกดดันการใช้จ่าย โดยคนสูงอายุกว่า 34% มีรายได้น้อยหรือต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี
- ค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มแพงขึ้น ขณะที่คนสูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ NCDs
- สภาพอากาศแปรปรวน
- มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศเข้มงวดขึ้น เช่น CBAM, พ.ร.บ. Climate Change
- ต้นทุนในการปรับตัวของธุรกิจเพิ่มขึ้น
สำหรับ 3 เทรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญและอาจช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตได้ ได้แก่
- Smart Spending ใช้จ่ายอย่างรู้ค่า/คุ้มค่าคุ้มราคา
- Self-healing ฮีลใจ/ทันกระแส และมี Story
- Sustainability กระแสรักษ์โลก ตอบโจทย์ตลาดไทยและต่างประเทศ
ธุรกิจดาวรุ่ง
1. อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ มูลค่าตลาดโต 5-7% จากเทรนด์รักสุขภาพและสังคมสูงวัย
2. การแพทย์และความงาม เทรนด์ใส่ใจสุขภาพหนุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 4-6% ต่อปี
3. ท่องเที่ยว/ฮีลใจ เช่น สัตว์เลี้ยง คอนเสิร์ต มูเตลู หมูเด้ง หมีเนย โดยมูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโต 10-15% ตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น
4. สินค้าและบริการเกี่ยวกับเด็ก โดยตลาดสินค้าเด็กโต 4% จากพ่อแม่ยังต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ/ปลอดภัย
5. ธุรกิจกรีน/ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่ง 58% ของผู้บริโภคเต็มใจจ่ายสินค้า/บริการกรีนเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าปกติ
ธุรกิจดาวร่วง
1. ผลิตสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง หลังยอดขายโตชะลอจากกำลังซื้อเปราะบางและแข่งกับสินค้านำเข้า
2. ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์สันดาป จากการเปลี่ยนผ่านสู่ EV มากขึ้น กดดันยอดขายรถยนต์ดังกล่าว
3. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหดตัวจากความต้องการที่ยังไม่กลับมา และจำนวนยูนิตรอขายยังสูง
4. ธุรกิจ Trader/ซื้อมาขายไป เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าใช้ช่องทาง Omni-Channel เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง
5. ธุรกิจปล่อยคาร์บอนสูง เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม โดยมาตรการสิ่งแวดล้อมกดดัน นอกเหนือจากการแข่งกับสินค้านำเข้า
ทั้งนี้ ผลประกอบการของแต่ละกิจการในธุรกิจรุ่ง - ร่วง แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเฉพาะ ซึ่งอาจไม่ได้รุ่งหรือร่วงตามธุรกิจในภาพใหญ่
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney