ยินดี “นักการเงิน” แห่งปี แต่ก็มี “ของฝาก” ให้คิด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยินดี “นักการเงิน” แห่งปี แต่ก็มี “ของฝาก” ให้คิด

Date Time: 13 ธ.ค. 2567 05:37 น.

Summary

  • วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ได้ประกาศมอบรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี 2567” ให้แก่คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

Latest

ที่สุดแห่งปี ! เปิด 10 ทำเล ราคาที่ดิน แพงสุด “ชิดลม-เพลินจิต” ทะลุ 3.7 ล้าน/ตร.ว. สงขลา รองแชมป์

วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ได้ประกาศมอบรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี 2567” ให้แก่คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ จากการพิจารณาของคณะกรรมการตัดสินรางวัลที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง เพื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์รวม 4 ด้าน ที่วารสารการเงินการธนาคารกำหนดไว้

ได้แก่...1.เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย 2.มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ 3.เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโต ให้แก่องค์กร และ 4.เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม

ซึ่งก็ปรากฏว่า คุณชาติศิริได้ดำเนินการครบถ้วนทั้ง 4 ข้อ สามารถประเมินผลงานต่างๆได้อย่างเป็นรูปธรรม...คณะกรรมการจึงมีมติมอบรางวัล นักการเงินแห่งปี ให้แก่คุณชาติศิริอีกครั้งหนึ่ง

ที่ผมใช้คำว่า “อีกครั้งหนึ่ง” ก็เพราะครั้งนี้เป็น “ครั้งที่ 3” แล้วครับ ที่คุณชาติศิริได้รับรางวัลนี้

คุณชาติศิริได้เป็นนักการเงินแห่งปีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2544 และมาได้ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2562...และครั้งนี้ครั้งที่ 3 ในปี 2567...นับเป็น “คนแรก” ที่ได้รับรางวัลถึง 3 ครั้งด้วยกัน

คณะกรรมการได้ให้เหตุผลที่ตัดสินมอบรางวัลครั้งนี้แก่คุณชาติศิริข้อหนึ่งว่า

“ตลอดเวลา 30 ปีของการเข้ามารับภารกิจนำทัพธนาคารกรุงเทพ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ คุณชาติศิริมีวิสัยทัศน์ชัดเจนในการปักหมุดให้ธนาคารกรุงเทพก้าวเป็น “ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาค” (Regional Bank) เพื่อเสริมสร้างรากฐานของธนาคารให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

“ส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพที่มีอายุครบ 80 ปีในปีนี้ เติบโตเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดทรัพย์สินใหญ่ที่สุดในประเทศถึง 4.5 ล้านล้านบาท และเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับที่ 6 ของอาเซียนที่มีเครือข่ายต่างประเทศครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก ได้แก่ กัมพูชา, จีน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเลเซีย, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไต้หวัน, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม”

จริงๆแล้วคณะกรรมการพิจารณารายวันได้เขียนถึงเหตุผลตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อเอาไว้ละเอียดมาก...แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัดผมก็ขออนุญาติคัดลอกมาลงเพียงบางส่วนเท่านั้น

ขอแสดงความยินดีแก่ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

แต่ก็คงจะต้องฝากไว้เป็นข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเอาไว้ด้วยเช่นกัน... เพราะในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมานี้ ความสำเร็จและผลกำไรของธนาคารทุกแห่งได้กลายเป็นประเด็นที่สร้างความคลางแคลงใจให้แก่ผู้คนในสังคมไทยอยู่ไม่น้อย

เพราะในขณะที่ธุรกิจอื่นๆ หรือการประกอบอาชีพอื่นๆล้วนล้มเหลวซวดเซขาดทุนไปตามๆกันนั้น มีเพียงไม่กี่ธุรกิจที่เจริญงอกงาม...ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือธุรกิจการเงินการธนาคารนี่เอง

ทุกครั้งที่ธนาคารต่างๆแถลงถึงผลกำไร จึงมักจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นอยู่เสมอ หนักบ้างเบาบ้าง

ทางฝ่ายธนาคารเองก็มิได้นิ่งนอนใจและมีการขยับตัวขานรับเสียงวิจารณ์ หันมาริเริ่มโครงการต่างๆที่จะช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ที่มีปัญหาและต้องการการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่าธุรกิจอื่นๆ

ถูกต้องแล้วครับที่ดำเนินการเช่นนี้และก็ขอให้เดินหน้าต่อไป คิดอะไรออกก็...รีบเสนอโครงการออกมาสู่สาธารณชนโดยเร็วก็จะทำให้ความคลางแคลงใจของบุคคลบางกลุ่มคลี่คลายลง

ผมก็ขอฝากเป็นข้อคิดไว้ด้วยนะครับ...ทางธนาคารกรุงเทพและ คุณชาติศิริ นั้นทำเต็มที่อยู่แล้ว โดยเฉพาะการดำเนินงานด้าน ESG และโครงการเพื่อ SME มาตลอด

แต่ถ้าจะทำมากขึ้นกว่านี้...รวมทั้งธนาคารอื่นๆด้วย ขอให้หันมาดำเนินโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) ให้มากขึ้นไปอีก ก็จะชนะใจคนไทยในที่สุด...ขอฝากไว้ด้วยนะครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ