ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีที่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือและหนังสือแสดงเจตนารมณ์โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอี ที่เป็นหนี้เสียให้กลับมาผ่อนส่งหนี้ได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา
โดยแบ่งเป็น 2 มาตรการคือ มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ซึ่งเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือเคยปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนที่ผ่านมา สำหรับสินเชื่อบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท ลูกหนี้รถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาท ลูกหนี้รถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาท และลูกหนี้เอสเอ็มอีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ โดยลดค่างวดผ่อนส่งรายเดือนให้ 3 ปี ปีแรกชำระที่ 50% ปีที่ 2 ที่ 70% และปีที่ 3 90% ของค่างวดเดิม ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น และพักไม่ต้องส่งดอกเบี้ย 3 ปี และหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ คือ ต้องส่งค่างวดตรงเวลา และไม่ก่อหนี้ใหม่เป็นเวลา 12 เดือน จะยกดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้งหมดให้
ขณะที่มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูงหรือไม่เกิน 5,000 บาท แต่ยังไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้จะมีการลดภาระหนี้ให้ โดยลูกหนี้จ่ายหนี้บางส่วน เพื่อปิดจบหนี้ ทำให้ลูกหนี้สามารถกลับเข้าสู่การเป็นหนี้ปกติ และกลับมากู้เงินจากสถาบันการเงินได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการยกตัวอย่าง การจ่ายเงินต้น ดอกเบี้ย กรณีที่ลูกหนี้เข้ามาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” เพื่อให้ลูกหนี้ที่สนใจเข้าโครงการสามารถเห็นภาพได้ชัดขึ้น
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการสำรวจลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลของลูกหนี้บ้าน พบว่าส่วนใหญ่มีหนี้คงค้างอยู่ที่ประมาณ 1.85 ล้านบาท จึงนำเป็นมาตัวอย่างของการเข้าโครงการจ่ายตรง คงทรัพย์ โดยกรณีลูกหนี้สินเชื่อบ้าน วงเงิน 1,850,000 บาท ระยะเวลาตามสัญญา 30 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี จ่ายค่างวดเดือนละ 10,000 บาท และปัจจุบันผ่อนมาแล้ว 10 ปี มีเงินต้นคงเหลือ 1,500,000 บาท ระยะเวลาตามสัญญาคงเหลือ 20 ปี และได้ค้างจ่ายหนี้มา 3 เดือน
กรณีดังกล่าว หากลูกหนี้ตัดสินใจเข้าโครงการจะได้รับประโยชน์ 3 ต่อ ต่อที่ 1 คือการเพิ่มสภาพคล่อง โดยได้ลดเงินผ่อนส่งรายเดือน โดยกรณีนี้ จากเคยจ่ายค่างวดเดือนละ 10,000 บาท ปีแรกจะจ่ายเพียงเดือนละ 5,000 บาท ปีที่ 2 จ่ายเดือนละ 7,000 บาท และปีที่ 3 จ่าย 9,000 บาท ต่อที่ 2 คือ พักไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอด 3 ปี และหากตลอด 3 ปีไม่ผิดเงื่อนไข ทางการจะยกดอกเบี้ยทั้งหมดให้ไม่ต้องจ่าย ต่อที่ 3 สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
โดยหากลูกหนี้สามารถผ่อนส่งหนี้ได้จนจบมาตรการ 3 ปี ในกรณีที่ยกตัวอย่างนี้ จะสามารถลดเงินต้นได้เต็มๆ เป็นจำนวน 250,000 บาท และได้รับการยกดอกเบี้ย 3 ปี โดยรัฐจ่ายแทนเป็นเงิน 220,000 บาท และสามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น 2 ปี จาก 20 ปี เป็น 18 ปี
นางสาวสุวรรณียังได้ยกตัวอย่างกรณีลูกหนี้ สินเชื่อรถวงเงินต้น และดอกเบี้ยตลอดสัญญา 610,000 บาท ระยะเวลาผ่อนตามสัญญา 6 ปีอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี ปัจจุบันผ่อนมาแล้ว 3 ปี ยอดหนี้คงเหลือ 300,000 บาท และค้างจ่ายหนี้มา 3 เดือน
กรณีดังกล่าวหากลูกหนี้ตัดสินใจเข้าโครงการ จะได้รับการลดค่างวด และพักดอกเบี้ยเช่นเดียวกับกรณีบ้าน โดยจากจ่ายค่างวดเดือนละ 8,500 บาท ปีแรกจะจ่ายเพียงเดือนละ 4,250 บาท ปีที่ 2 จ่ายเดือนละ 6,000 บาท และปีที่ 3 จ่าย 7,700 บาท และได้พักไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอด 3 ปี และหากลูกหนี้สามารถผ่อนส่งหนี้ได้จนจบมาตรการ 3 ปี ในกรณีนี้ที่ยกตัวอย่างนี้ จะทำให้เงินต้นและดอกเบี้ยตลอดสัญญาลงมาเหลือ 580,000 บาท จะลดลงจาก 610,000 บาทและสามารถปิดจบหนี้ใน 3 ปี 8 เดือน
“เหตุที่กรณีรถยนต์ปิดจบหนี้ได้ไม่เร็วกว่ากำหนดเดิมนั้น เนื่องจากในช่วง 3 ปี ลดค่างวดลงมาก ทำให้ตัดต้นได้น้อย แต่ช่วยให้ลูกหนี้มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้น และการเข้าโครงการจะช่วยประหยัดดอกเบี้ยที่ได้รับการยกจากรัฐบาลเป็นเงิน 31,000 บาท”
นางสาวสุวรรณีกล่าวต่อว่า ก่อนที่จะเข้าโครงการลูกหนี้จะต้องมีความตั้งใจในการแก้หนี้ เพราะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ข้อ คือ 1.ลูกหนี้ไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม
2.ลูกหนี้รับทราบว่าจะมีการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้าร่วมมาตรการ 3.หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่มาตรการกำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆได้ เช่น ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน ลูกหนี้จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้ในระหว่างที่เข้ามาตรการเหมือนก่อนการเข้ามาตรการ และ 4.หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมในการเข้าร่วมมาตรการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สมัครเข้าร่วมได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 08.30 น. ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ BOT contact center ของ ธปท. โทร. 1213 หรือ call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการและกดเบอร์ต่อ 99
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่