พาณิชย์ปลื้มผลปราบสินค้านำเข้าห่วย–นอมินี ระยะสั้นตั้งแต่เดือน ก.ย.ถึงปัจจุบัน สินค้านำเข้าไร้มาตรฐานลดฮวบ เหลือเดือนละ2.2 พันล้านบาท จากก่อนหน้า 3.1 พันล้านบาท ดำเนินคดีได้กว่า 1.2 หมื่นราย จับนอมินีได้ 747 คดี ความเสียหายกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เดินหน้าแก้ปัญหาต่อเนื่อง หวังกวาดล้างให้สิ้นซาก
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้า และธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ครั้งที่ 2 ว่า หน่วยงานต่างๆได้มารายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานระยะสั้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้าไร้มาตรฐานลดลง รวมถึงสามารถจับกุมดำเนินคดีกับธุรกิจต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้จำนวนมาก และถือว่าน่าพอใจมาก อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการต่างๆของไทยจะต้องไม่กระทบกับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯจะประชุมกันทุกไตรมาส เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการทำงาน และเร่งรัดการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ด้านนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนในช่วงตั้งแต่เดือน ก.ย.67 จนถึงปัจจุบัน ในส่วนของสินค้านำเข้าไร้มาตรฐานนั้น หน่วยงานต่างๆได้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบสินค้านำเข้าให้มากขึ้นตั้งแต่ที่หน้าด่าน ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าลดลงเหลือเฉลี่ยเดือนละ 2,200 ล้านบาท ลดลง 27% จากช่วงก่อนมีมาตรการ หรือช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.67 ที่นำเข้าเฉลี่ยเดือนละ 3,112 ล้านบาท รวมถึงยังมีการจับกุมดำเนินคดีกับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานอีก โดยในส่วนการจับกุมดำเนินคดีโดยกรมศุลกากร 12,145 คดี มูลค่า 529 ล้านบาท, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) 59 คดี 33 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 159 คดี 57 ล้านบาท, กรมทรัพย์สินทางปัญญา 177 คดี 153 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 30,393 รายการ ยังประเมินความเสียหายไม่ได้
สำหรับการตรวจสอบในระยะเร่งด่วนนี้ ที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น การเพิ่มความถี่ตรวจสอบสินค้านำเข้าจากปี 66 ที่ตรวจเพียง 500 ครั้ง/เดือน เป็น 5,000 ครั้ง/เดือน และในระยะกลางจะเพิ่มเป็น 200 ครั้ง/วัน อีกทั้งยังเพิ่มความถี่ตรวจสอบเว็บไซต์ที่โฆษณาขายสินค้า และมีมาตรการ Notice and Take Down หรือแจ้งเตือนให้เว็บไซต์ที่ขายสินค้าเกินจริง หรือไม่ได้มาตรฐาน เอาโฆษณาสินค้านั้นๆออกในทันที เป็นต้น
ส่วนการแก้ปัญหานอมินีนั้น ผลการดำเนินงานในช่วงเดือน ก.ย.-4 ธ.ค.67 ดำเนินคดีกับธุรกิจนอมินีได้รวม 747 คดี มูลค่าความเสียหายที่คิดจากทุนประกันของแต่ละธุรกิจรวมถึง 11,720 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่ง และเป็นคนต่างด้าวจากหลายชาติ ที่ใช้คนไทยถือหุ้นแทน
ขณะที่การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ของไทยนั้น ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าของเอสเอ็มอีให้ได้ถึง 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 70 จากปี 66 ที่มีสัดส่วน 35.2%
“ผลการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน ถือว่าเป็นที่น่าพอใจมาก เพราะสามารถทำให้การนำเข้าสินค้าไร้มาตรฐานลดลงมาก ซึ่งช่วยปกป้อง คุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค อีกทั้งยังทำให้ธุรกิจนอมินีลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายกวาดล้างให้หมดไปจากประเทศไทย เพราะถือเป็นการครอบงำธุรกิจไทย สร้างผลกระทบภาคธุรกิจและประเทศไทยเป็นอย่างมาก”
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่