ในช่วงโค้งสุดท้ายของทุกปี “ผู้มีรายได้” ต้องวางแผนการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ฉะนั้นทุกคนที่มีรายได้ควรวางแผนการลดหย่อนภาษีก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี ช่วยประหยัดเงินชำระภาษี มีเงินเหลือออม เพราะได้เงินคืนจากการชำระภาษี
เช่นเดียวกับปี 2567 นี้ ทุกคนที่มีรายได้ต้องซื้อประกันกองทุน LTF RMF และเอกสารต่างๆตามมาตรการของรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ ซึ่งจะต้องยื่นภาษีในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.68
ส่วนรายละเอียดของการลดหย่อนนั้น ผู้ยื่นแบบภาษีสามารถปรึกษาสถาบันการเงินต่างๆได้ เพราะจากที่เห็นแต่ละสถาบันการเงิน จะออกผลิตภัณฑ์มาเพื่อเอาใจลูกค้าหลากหลายประเภท เช่นเดียวกับกรมสรรพากรจะออกตารางรายละเอียดของมาตรการลดหย่อนต่างๆ เพื่อผู้เสียภาษีได้รับทราบเช่นกัน
และในยุคปัจจุบันข้อมูลต่างๆจะเชื่อมข้อมูลผ่านออนไลน์ ไม่ต้องเก็บเอกสารที่เป็นกระดาษอีกต่อไป และผู้ยื่นแบบภาษีกว่า 90% มีการยื่นแบบภาษีผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสะดวกรวดเร็ว หากคนที่ยื่นเอกสารครบถ้วนจะได้เงินคืนรวดเร็วเช่นกัน แต่หากเอกสารไม่ครบถ้วนก็ต้องส่งเอกสารให้ครบถ้วน ตามที่กรมสรรพากรแจ้งให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม
ทั้งนี้ การยื่นแบบเสียภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคน เพราะ “ภาษี” ที่จัดเก็บได้นั้น เพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 120,000 บาท ไม่ต้องยื่นแบบภาษี แต่หากมีรายได้มากกว่า 120,000 บาทต่อปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 150,000 บาท จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ถึงแม้ว่ารายได้จะยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี
ผู้มีรายได้รวมปีละ 150,001 บาทขึ้นไป จะต้องจ่ายภาษี ตั้งแต่ 5-35% ตามขั้นบันไดของรายได้ดังนี้ มีรายได้ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% มีรายได้ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% มีรายได้ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% มีรายได้ 750,001-1 ล้านบาท อัตราภาษี 20%มีรายได้ 1 ล้าน-2 ล้านบาท อัตราภาษี 25% มีรายได้ตั้งแต่2 ล้าน-5 ล้านบาท อัตราภาษี 30% และตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
เมื่อถึงคราวต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อมีรายได้ ย่อมมีหน้าที่เสียภาษี มิเช่นนั้นหากตรวจสอบภายหลังไม่ชำระภาษี จะถูกปรับเป็นจำนวนเงินมาก
ดังนั้น เมื่อต้องเสียภาษีแล้ว ควรศึกษาและเรียนรู้การ “ลดหย่อนภาษี” เพื่อใช้ประโยชน์สิทธิทางภาษี ตามกรมสรรพากรระบุไว้ให้ครบถ้วน ควรเรียนรู้วิธีการลดหย่อนภาษีเอาไว้ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตัวเราเอง
ส่วนการ “ลดหย่อนภาษี” มีการแบ่งไว้ 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว 2.ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน 3.ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค และ 4.ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
ซึ่งการลดหย่อนในกลุ่ม 1-3 เป็นการลดหย่อน ผู้มีรายได้มักจะวางแผนไว้แล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทุกปี แต่ปี 2567 มีพิเศษคือ การซื้อกองทุน Thai ESG ในปี 2567-2569 สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
ส่วนกลุ่ม 4 นั้น มีมาตรการลดหย่อนที่มาจากการกระตุ้น เศรษฐกิจของรัฐตั้งแต่ต้นปี ได้แก่ มาตรการ Easy e-Receipt เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเมื่อวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.67 ที่ผ่านมา วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยบ้าน ไม่เกิน 100,000บาท เที่ยวเมืองรองช่วงเดือน พ.ค.-พ.ย.67 วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท
ค่าซ่อมบ้าน ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนค่าซ่อมแซมบ้าน ที่จ่ายไประหว่างวันที่ 16 ส.ค.-31 ธ.ค.67 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าซ่อมรถ หักลดหย่อนค่าซ่อมแซมรถที่จ่ายไประหว่างวันที่ 16 ส.ค.-31 ธ.ค.67 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 30,000 บาท
ทั้งนี้ บ้านและรถที่ได้รับความเสียหายต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
ผู้มีรายได้ทุกคนสามารถวางแผน “ลดหย่อนภาษี” ได้ ณ ตั้งแต่วันนี้ เพราะเหลือเวลาไม่ถึง 20 วัน ก็จะสิ้นปีแล้ว สิ้นสุดการหารายการลดหย่อนภาษี หากไม่ทันปีนี้ศึกษาไว้ก่อน เพื่อลดหย่อนปีถัดไปได้!!!
ดวงพร อุดมทิพย์
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม