ปี 68 อุตสาหกรรมไทยกระอัก รับศึก 2 ด้าน "นโยบายทรัมป์ 2.0 - สินค้าจีนทะลัก"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปี 68 อุตสาหกรรมไทยกระอัก รับศึก 2 ด้าน "นโยบายทรัมป์ 2.0 - สินค้าจีนทะลัก"

Date Time: 9 ธ.ค. 2567 07:49 น.

Summary

  • จากผลกระทบของ “สงครามการค้าโลก” ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 61 เป็นต้นมา ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ต่างทุ่มใช้หลากหลายมาตรการทางการค้า เพื่อสกัดสินค้านำเข้าจากจีน ทำให้สินค้าส่งออกหลายประเภทจากจีนไปอเมริกาและสหภาพยุโรปเผชิญแนวโน้มถดถอยลงต่อเนื่อง

Latest

อาเซียน ตั้งเป้า “ศูนย์กลางการผลิตโลก” ฮับรถ EV - เซมิคอนดักเตอร์ สังคมชนชั้นกลางที่ร่ำรวย

จากผลกระทบของ “สงครามการค้าโลก” ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 61 เป็นต้นมา ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ต่างทุ่มใช้หลากหลายมาตรการทางการค้า เพื่อสกัดสินค้านำเข้าจากจีน ทำให้สินค้าส่งออกหลายประเภทจากจีนไปอเมริกาและสหภาพยุโรปเผชิญแนวโน้มถดถอยลงต่อเนื่อง

และยังซ้ำเติมด้วยผลพวงจากความซบเซาทางเศรษฐกิจของจีน ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาภายในประเทศจีนเอง ทำให้การบริโภคภายในของจีนลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น จีนจึงมุ่งแก้ปัญหา “สินค้าล้นตลาด” ด้วยการส่งออกสินค้าราคาถูกออกไปทั่วโลก สร้างความปั่นป่วนให้กับภาคการผลิตของทุกประเทศ

โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของจีน และ 5 ปีล่าสุด จีนได้ส่งออกสินค้ามายังอาเซียนรวมมูลค่ามากที่สุดในโลก ส่งผลให้ปี 67 อาเซียนเสียดุลการค้าให้จีนเพิ่มขึ้น 38.2% ซึ่งเป็นอัตราเร่งมากที่สุดในโลก

ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก ที่จีนส่งสินค้าราคาถูกมาดัมพ์ตลาด ส่งผลให้ผู้ประกอบการของไทย ทั้งรายใหญ่และรายย่อยอยู่ในสภาพย่ำแย่ เพราะสินค้าที่จีนส่งมายังไทยนั้นเรียกว่าครอบจักรวาล “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” ตั้งแต่เสื้อผ้า ถ้วยชาม เครื่องใช้ไฟฟ้า ราคาหลักสิบหลักร้อย ไปจนถึงสินค้าเหล็กโครงสร้างขนาดใหญ่

ที่สำคัญที่สุด ผลกระทบของสินค้าราคาถูกจากจีน ไม่ได้กระทบแต่ประเทศไทย แม้แต่สหรัฐฯ ก็ถูกสินค้าจีน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกทุ่มตลาดด้วยเช่นกัน ทำให้ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ได้ประกาศในช่วงหาเสียงว่า
จะเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนระลอกใหม่ และอาจจะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯด้วย ส่งผลให้สงครามการค้ารอบใหม่รุนแรงขึ้น

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย และผลกระทบจากการที่สหรัฐฯต้องการโหมไฟสงครามการค้าโลกขึ้นมาอีกครั้ง ขณะที่จีนยังคงทุ่มตลาดอาเซียนและไทยต่อเนื่อง หากไม่เตรียมรับมือไว้อาจกระทบอุตสาหกรรมไทยรุนแรงกว่าที่คิด

ไทยกระทบหนัก 2 เด้งจีน–สหรัฐฯ

“ในช่วงปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีที่หนักมากของภาคอุตสาหกรรมไทย จากผลกระทบของสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาจำนวนมาก และปีหน้าอาจจะหนักมากกว่า เพราะจะมีผลกระทบจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง และขยายวงมากขึ้นมาซ้ำเติมด้วย” นายนาวาเริ่มต้นเล่าให้ “ทีมเศรษฐกิจ” ฟังถึงปัญหาใหญ่ของภาคอุตสากรรมไทยในขณะนี้

โดยประเทศจีนเป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใหญ่สุดของโลก มีมูลค่ามากถึง 1 ใน 3 ของโลก มากกว่าอันดับ 2, 3, 4 และ 5 ของโลกรวมกัน ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมของจีนที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจมาจากอุตสาหกรรมขั้นสูงมากสุด 60.2%, อุตสาหกรรมขั้นสอง 33.9% และอุตสาหกรรมขั้นต้น 5.9%

และเมื่อจีนยังคงผลิตสินค้าจำนวนมากต่อเนื่อง แต่ขายในประเทศได้น้อยลงจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ทำให้นโยบายหลัก คือ การขายสินค้าไปนอกประเทศในราคาถูกนั้น ส่งผลให้สินค้าจีนไหลทะลักไปทั่วโลก โดยในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 67 จีนส่งออกสินค้าไปทั่วโลกมากถึง 2.89 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และได้ดุลการค้าประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมกันมากถึง 770,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 17.6%

“อาเซียน” รวมทั้งไทย กลายเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของสินค้าจีนรวม 470,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 12.5% ส่งผลให้จีนได้ดุลการค้าอาเซียนมากถึง 150,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 38.2% คาดว่า ทั้งปี 67 อาเซียนจะนำเข้าสินค้าจีนกว่า 560,000 ล้านเหรียญ และเสียดุลการค้าจีนมากถึง 180,000 ล้านเหรียญ

ขณะที่ช่วง 10 เดือนปี 67 จีนส่งออกสินค้ามาไทย 2.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.3% จากช่วงเดียวกันของปี 66 และไทยเสียดุลการค้าจีนมากถึง 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.8%

และนอกเหนือจากผลกระทบจากจีน ไทยยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ของอเมริกาอีกด้วย โดยในปี 67 สหรัฐฯเสียดุลการค้าต่อจีน เพิ่มขึ้น 5.8% จากปี 66 ส่งผลให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.68 ประกาศนโยบายทำสงครามการค้ากับจีนรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายสร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again) ผ่านการตั้งกำแพงภาษีที่อย่างจริงจัง ตามทิศทางผลักดันผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นศูนย์กลาง

มากไปกว่านั้น อเมริกาได้ประกาศสงครามการค้าโดยไม่จำกัดแค่สินค้าจีนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป ที่ได้ดุลการค้าอเมริกา โดยไทยได้ดุลการค้าอเมริกามากเป็นลำดับที่ 12 ของโลกในปี 66 และขยับขึ้นเป็นอันดับ 9 ของโลก ด้วยมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ในช่วง 10 เดือนแรกปี 67

ดังนั้น ไทยจึงเสี่ยงที่จะได้ผลกระทบรุนแรงจากนโยบายของทรัมป์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดย 1.ผลกระทบทางตรงคือ ไทยอาจถูกอเมริกาใช้ทั้งมาตรการทางภาษี และมาตรการทางการค้าที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปอเมริกา ที่มีมูลค่าราว 1.9 ล้านล้านบาทต่อปี ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาด

และ 2.ผลกระทบทางอ้อม เมื่ออเมริกาใช้มาตรการแรงดังกล่าว ประเทศอื่นๆที่ทันเหตุการณ์ก็จะพากันใช้มาตรการในลักษณะดังกล่าวตามไปด้วย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นสมัยทรัมป์ 1.0 เมื่ออเมริกาใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard หรือ SG) ในสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมในปี 61 เพื่อสกัดเหล็กและอลูมิเนียมจากจีน โดยกำหนดอากรนำเข้า 25% ทำให้สหภาพยุโรปก็ใช้มาตรการกำหนดอากร SG 25% ตามโดยทันที ในขณะที่ไทยไม่ได้ใช้มาตรการ SG จึงยิ่งทำให้เหล็กจากจีนไหลทะลักเข้ามายังไทยหลายปีต่อเนื่อง

“สินค้าจีนทะลัก” ทุบภาคอุตสาหกรรม

สำหรับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กของไทยคาดว่า ในปี 67 เหล็กจากจีนจะทุ่มตลาดมายังไทยราว 5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.2% จากปีก่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีการใช้กำลังการผลิตในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 67 ลดเหลือเพียง 29.1% จนโรงงานเหล็กหลายแห่ง
ต้องทยอยปิดตัวลง

นอกจากนั้น จีนยังหลบเลี่ยงทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าเหล็ก โดยเร่งบุกส่งออกสินค้าต่อเนื่องอื่นๆที่ผลิตจากเหล็กมายังไทยมากขึ้น ได้แก่ อาคารโครงสร้างสำเร็จรูป ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 620,000 ตันในปี 67 เพิ่มขึ้น 67% จากปี 66

“สิ่งที่ทั้งน่าประหลาดใจและน่ากลัวกว่านั้นคือ ช่วง 10 เดือนแรกปีนี้จีนส่งออกเหล็กไปทั่วโลกสูงสุดในรอบ 9 ปี ถึง 92 ล้านตัน และคาดว่าทั้งปีนี้น่าจะกว่า 110 ล้านตัน ในขณะที่การขาดทุนสะสมของอุตสาหกรรมเหล็กจีนช่วง 9 เดือนปี 67 รวมกันมากถึง 47,000 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 160,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลจีนก็ยังอุดหนุนอุตสาหกรรมเหล็กให้ยังอยู่รอด และคงใช้กำลังการผลิตสูงอยู่ เช่น อุ้มบริษัทที่ประสบปัญหาผ่านธนาคารรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจจีน หรือกองทุนต่างๆ การแปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น”

เหมือนกับอีกหลายอุตสาหกรรมของจีนที่รัฐบาลช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ในขณะที่ประเทศจีนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถดถอยรุนแรง

แต่อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างยังคงการผลิตในระดับเดิม เพราะรัฐบาลจีนได้อุดหนุนด้วยมาตรการต่างๆ และการเร่งส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีนที่เพิ่มขึ้น ก็เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนและรักษาการจ้างงานภายในประเทศ

แต่การดำเนินการดังกล่าว กลับสร้างปัญหาให้กับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วยที่เป็นเป้าหมายการส่งออกสินค้า เพราะจะเผชิญกับการสูญเสียทางอุตสาหกรรมและการจ้างงานในประเทศ โดยขณะนี้โรงงานจีนยิ่งมุ่งเจาะขายเหล็ก วัสดุก่อสร้าง รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ ในตลาดอาเซียนมากขึ้น

การทุ่มตลาดสินค้าจากจีนจึงรุนแรง และจ้องใช้ช่องโหว่ เพื่อหลบเลี่ยงดำเนินการตามมาตรการต่างๆขยายวงไปยังสินค้าอื่นๆมากยิ่งขึ้นด้วย จนกระทบต่อการใช้กำลังการผลิต และการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆมากขึ้น

รับมือ “สงครามการค้าโลก” ปะทุ

นายนาวากล่าวต่อว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ได้นำเสนอรัฐบาลมาตลอดถึงการให้ความสำคัญต่อการรักษาและพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมที่ไทยมีอยู่แล้ว และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะผู้ผลิตขนาดเล็กและกลาง (SME) ซึ่งจะทนรับผลกระทบได้ไม่นานเท่ารายใหญ่

โดยมีปัญเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน คือ 1.สงครามการค้า และสินค้าต่างชาติมาแย่งตลาดสินค้าอุตสาหกรรมไทย 2.ต้นทุนการผลิตสูง ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว คือ 1.โครงสร้างอุตสาหกรรมไทย 2.ผลิตภาพแรงงาน 3.เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.กฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนา
ธุรกิจและอุตสาหกรรม

ขณะที่หากมองภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจ ตามที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 67 ที่ 3.1% และปี 68 ที่ 3.2% ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 67 ตามการประเมินของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ขยายตัวเพียง 2.8% ต่ำกว่าเศรษฐกิจโลกนั้น

นายนาวาประเมินว่า “เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปี 68 มีความไม่แน่นอนสูง ท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามการค้า และภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ ส่งผลให้การค้าโลกในปีหน้าจะยิ่งทวีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการค้าของอเมริกาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก ซึ่งจะใช้มาตรการทางภาษีที่รุนแรงและขยายวงมากขึ้นนั้น จะบั่นทอนห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจในระดับโลก และสร้างผลกระทบให้กับคู่ค้าของอเมริกา มาตรการที่อเมริกาใช้จะก่อความเสี่ยงให้เกิดการตอบโต้จากประเทศต่างๆเป็นระลอกคลื่นไปทั่วโลก”

และผลจากการดำเนินการนี้ จะทำให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดนภัยคุกคามจากมาตรการกีดกันของอเมริกา ที่คาดเดาผลกระทบไม่ได้ขณะนี้ และทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการค้าอ่อนแอลง

ประเทศไทยกำลังจะตกอยู่ท่ามกลางภาวะสงครามการค้า ซึ่งตามหลักการสงครามจะต้องไม่ละเลย หลักการ “ระวังป้องกัน” เราต้องมีความกล้าหาญ รวดเร็ว ทันการ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ประเทศที่มีภาครัฐเข้มแข็ง และผู้นำกล้าหาญ ภาครัฐจะดำเนินมาตรการทางการค้าเอง และจากภาวะสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น จะส่งผลให้อุตสาหกรรมของไทยได้รับผลกระทบเชิงลบในหลายมิติ

ประกอบด้วย 1.สินค้าทุ่มตลาดจากต่างประเทศจะยิ่งไหลทะลักเข้ามายังไทย โดยเฉพาะจะมีตัวเร่งจากมาตรการของโดนัล ทรัมป์ 2.โรงงานจากจีนย้ายฐานมาผลิตในไทย ซึ่งมักไม่ใช้ห่วงโซ่อุปทานจากผู้ผลิตในไทย แต่จะนำเข้าวัตถุดิบจากจีนมาแปรรูปในบางขั้นตอน เพื่อเปลี่ยนประเทศแหล่งกำเนิดของสินค้า ซึ่งหากเป็นประเภทโรงงานเดียวกับโรงงานเดิมของไทยที่มีอยู่แล้ว ก็จะมาทุ่มตลาด 3.ผลกระทบต่อเนื่อง โดยประเทศที่ใช้มาตรการทางการค้ากับจีน จะพิจารณาว่า สินค้าที่ส่งออกจากไทย แม้ผลิตในไทยเอง ก็อาจมีพฤติกรรมหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าที่มีต่อจีน ดังนั้น ก็จะขยายผลมาใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention หรือ AC) กับสินค้าดังกล่าวจากไทย ซึ่งผู้ผลิตไทยอาจไม่สามารถส่งออกหรือส่งออกได้ยากขึ้น

หนุนรัฐปกป้องผู้ประกอบการไทย

“ผมเป็นห่วงเศรษฐกิจโลกปี 68 ที่จะเผชิญความไม่แน่นอน และความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงจากสหรัฐฯ นโยบายทรัมป์ 2.0 จะไม่จำกัดเฉพาะสินค้าจีนเท่านั้น แต่จะเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากประเทศอื่นด้วย โดยจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเป็น 60% และประเทศอื่นๆเป็น 10-20% หากรัฐบาลไทยไม่ระวังป้องกัน และดำเนินการด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว ทันการเพื่อรองรับสงครามการค้าที่จะรุนแรงยิ่งขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 68 จะไม่ดีไปกว่าปีนี้”

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องที่ดี หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งได้รับข้อเสนอจากภาคเอกชนในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ และดำเนินการแล้ว ได้แก่ 1.กระทรวงอุตสาหกรรม ที่กวดขันตรวจจับผู้กระทำผิดมาตรฐาน มอก.อย่างเข้มงวด ทั้งสินค้านำเข้าและผลิตในประเทศ, กำหนด มอก.สินค้าต่างๆให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว รวมถึงห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเฉพาะประเภทที่มีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศแล้ว

2.กระทรวงการคลัง ส่งเสริมการใช้สินค้าที่ได้รับการรับรองจาก ส.อ.ท. ว่าผลิตในไทย (Made in Thailand) สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอยู่ระหว่างพิจารณาขยายไปยังโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ด้วย 3.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พิจารณางดส่งเสริมการลงทุนโรงงานใหม่ในประเภทที่มีกำลังการผลิตล้นเหลือ

4.กระทรวงพาณิชย์ เริ่มใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) นอกเหนือจากการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping หรือ AD) แต่อาจพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างทันท่วงที เช่น มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty หรือ CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (SG)

นายนาวาเชื่อมั่นว่า หากภาครัฐรับฟังข้อเสนอแนะจาก ส.อ.ท.และภาคเอกชนต่างๆ แล้วนำไปแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดตามลำดับความสำคัญอย่างรวดเร็วและทันการ ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆจะคลี่คลายได้ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะมีโอกาสกลับมาเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ