หากจะกล่าวว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ไม่มี Low season แล้วก็ว่าได้ สำหรับ “ภูเก็ต” BIG CITY ระดับโลก ที่รองรับนักท่องเที่ยวหลากหลายสัญชาติได้ตลอดทั้งปี
ขณะโรงแรมห้องพักนับพันแห่งบนเกาะภูเก็ต ต่างก็มีฐานลูกค้าแยกตามพื้นที่ แต่ละหาดไม่ทับซ้อนกัน ตั้งแต่โซนกะรน, สาคู, กระทู้, เชิงทะเล, กมลา, ป่าตอง, ราไวย์, ตลาดใหญ่ ไปจนถึงไม้ขาว และโซนอื่นๆ
การท่องเที่ยวของภูเก็ตยังถูกคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2567 จะสร้างรายได้เติบโตไปสู่กว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็น “New high” ต่อเนื่องจากปี 2566 จากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวราว 34,336 บาท/คน มากที่สุดในประเทศไทย สวนทางภาพรวมการท่องเที่ยวทั้งประเทศที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวหลังโควิด-19
ปัจจุบันภูเก็ตมีสายการบินตรงจากจีน สิงคโปร์ และตะวันออกกลางมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวบนเกาะมีความหลากหลาย จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวสัญชาติใหม่ๆ เช่น อินเดีย คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล และ UAE ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเสริมรายได้ในช่วง Low season ส่งผลให้เศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตขยายตัวค่อนข้างสูง ท่ามกลางรายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและห้องพักทำเงิน 4.52 หมื่นล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก SCB EIC ยังระบุว่า ปัจจุบันแม้กรุ๊ปทัวร์จีนยังกลับเข้ามาไม่เท่าเก่า แต่มีนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางแบบ FIT และมีกำลังซื้อสูงเข้ามาแทนที่ โดยพฤติกรรมจะจองผ่าน Ctrip เที่ยวตาม Social Media และเน้น Local มากขึ้น
ขณะชาวรัสเซียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Resident (ตลาดที่พักอาศัย) จองผ่าน Agent ใช้จ่ายด้วยเงินดอลลาร์ และมีกำลังซื้อสูง ส่วนใหญ่พักระยะกลาง-ยาว บินไฟลต์บินตรง ซึ่งมาจากปัจจัยปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้หนีสงครามมาภูเก็ตมากขึ้น
ด้านชาวอินเดีย กลุ่มนักท่องเที่ยวมาแรง เป็นกลุ่มที่นิยมด้านความบันเทิง Night life บริเวณป่าตองเป็นหลัก
และการที่ส่วนใหญ่เลือกบริโภคแต่อาหารอินเดีย ทำให้ปัจจุบันมีร้านอาหารอินเดียเปิดใหม่เพิ่มมากขึ้นในโซนป่าตอง ขณะกลุ่มคู่รักชาวอินเดียที่เข้ามาภูเก็ตเพื่อจัดงานแต่งงานก็ยังมีอยู่ โดยมักเลือกโรงแรมที่ติดริมหาด
ความน่าสนใจคือนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่อย่างซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล และคาซัคสถาน ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงและลักชัวรี โดยคาซัคสถานจะเข้ามาตั้งแต่ต้นปี ส่วนซาอุฯ อิสราเอล และ Middle East อื่นๆ จะมาท่องเที่ยวในช่วง Q2-Q3
นี่เองจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ผลักดันให้หลายๆ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องเติบโตตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจห้างค้าปลีก โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลเอกชน และอสังหาริมทรัพย์ บ้านเดี่ยว วิลล่า และคอนโดมิเนียม ที่มีมูลค่าสะสมนับแสนล้านบาทแล้วในปัจจุบัน
ท่ามกลางการวิเคราะห์ของ SCB EIC ว่าอาจมีความเสี่ยงต่อซัพพลายส่วนเกินในระยะข้างหน้า หากกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้ออสังหาฯ หลักอย่างกลุ่มที่เข้ามาเพราะผลกระทบเรื่องสงครามหายไป ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวัง และเน้นพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพเพื่อสร้างโอกาสอื่นๆ ร่วมด้วย
มองไปในระยะข้างหน้า ภาครัฐยังมีแผนผลักดัน “ภูเก็ต” ให้เติบโตในอีกหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายเช่นกัน
ทิศทางการพัฒนาในจังหวัดภูเก็ต
- โครงการพัฒนาสนามบิน ขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็น 18 ล้านคน/ปี ในปี 2572
- การสร้างสนามบินอันดามัน พังงา แล้วเสร็จปี 2574
- โครงการทางด่วนและโครงการรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต คาดจะเริ่มสร้างปี 2571
- การพัฒนาภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวหลากหลายด้าน เช่น Sport, Medical Hub และ Gastronomy
- การดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพ สร้างโรงแรมให้มีจุดขายสอดคล้องแบบพรีเมียมชัดเจน เพื่ออัปเกรดราคาห้องพักให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาข้างต้นอาจนำมาสู่ความท้าทายเช่นกัน จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปัญหาการจัดการขยะของเมือง การขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนจากนักท่องเที่ยวด้วย
ท้ายที่สุด SCB EIC ระบุว่า การพัฒนาภูเก็ตในระยะข้างหน้า บทบาทภาครัฐมีส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับภาคการท่องเที่ยวสู่โซนท่องเที่ยวอันดามัน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในหลายจังหวัดอันดามัน อย่างพังงาและกระบี่ เพื่อลดความแออัดของผู้คนที่กระจุกตัวในภูเก็ต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมไปถึงการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นมากขึ้น การวางทิศทางด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ควบคู่กับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทันต่อการเติบโตในอนาคต เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภูเก็ตต่อไป
ที่มา : SCB EIC
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney