บอร์ดอีวีไฟเขียวลดภาษีสรรพสามิต ถึงคิวรถยนต์ไฮบริดบูม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บอร์ดอีวีไฟเขียวลดภาษีสรรพสามิต ถึงคิวรถยนต์ไฮบริดบูม

Date Time: 5 ธ.ค. 2567 08:55 น.

Summary

  • บอร์ดอีวีเคาะมาตรการลดภาษีสรรพสามิตกลุ่ม HEV–MHEV รับกระแส คนนิยมรถไฮบริดและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ชูไทยศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทุกเซ็กเมนต์

Latest

"มนพร" ปลื้มบินตรงหัวหินพุ่งพรวด สนามบินภูมิภาคคึกคักรับไทยเที่ยวไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบ 2 มาตรการ เพื่อรักษาสมดุลการแข่งขัน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งระบบ ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกในทุกประเภท โดยปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับผลิตรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV) ที่ยอดขายในไทยและทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นสวนทางยอดขายรถประเภทอื่นที่ลดลง

สำหรับรถยนต์ HEV กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่ 7 ปี (2569-2575) สำหรับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร ภาษีสรรพสามิต 6% และการปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101-120 กรัมต่อกิโลเมตร ภาษีสรรพสามิต 9% โดยผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในเครือต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567-2570 ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆตั้งแต่ปี 2571

ส่วนมาตรการสนับสนุนรถยนต์ MHEV รถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า โดยมีแรงดันไฟฟ้าในการขับเคลื่อนต่ำกว่า 60 โวลต์ และอาศัยเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน กำหนดภาษีสรรพสามิตในอัตราคงที่เป็นเวลา 7 ปี (2569-2575) สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 ไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร ภาษี 10% และการปล่อยก๊าซ CO2 ไม่เกิน 120 กรัมต่อกิโลเมตร ภาษี 12% ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567-2569 และไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567 -2571 เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง และแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย พร้อมตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด กำกับการจัดทำยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร ตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (2568-2572) เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในภูมิภาค.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ