วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายสั่งการทุกภาคส่วนให้เร่งส่งมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่ ชุมพร พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยธนาคารได้จัดส่งถุงยังชีพกระจายแก่ผู้ประสบภัย พร้อมออกชุดมาตรการพักหนี้และสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนจัดเตรียมเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำลด ที่ธนาคารพร้อมให้บริการอีกหลากหลายมาตรการ
สำหรับมาตรการลดภาระหนี้ ได้แก่ การให้ลูกหนี้ธนาคารออมสินในพื้นที่ประสบภัยฯ พักชำระเงินต้น และธนาคารไม่คิดดอกเบี้ย จนถึงเดือนมีนาคม 2568 ครอบคลุมลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบุคคล และ SMEs ที่เป็นลูกหนี้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท (ยกเว้นสินเชื่อชีวิตสุขสันต์และสินเชื่อตามนโยบายรัฐ : PSA) จำนวนกว่า 37,000 บัญชี เป็นเงินต้นรวมกว่า 13,600 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินที่ธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยกว่า 270 ล้านบาท
โดยผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยตามประกาศฯ ในปัจจุบัน สามารถลงทะเบียนเข้ามาตรการฯ ได้ที่แอปพลิเคชัน MyMo ได้ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ทั้งนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการฯ ให้ลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ตามสัญญาเดิมตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีมาตรการปรับลดอัตราการชำระขั้นต่ำของลูกค้าบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เป็น 3% ของยอดเรียกเก็บ (ขั้นต่ำ 300 บาท) ถึงเดือนมีนาคม 2568 เช่นเดียวกัน
ด้านมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเร่งด่วน ประกอบด้วย สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย ไม่ต้องมีหลักประกันและไม่มีผู้ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ต่อเดือน ผ่อนนานสูงสุด 15 เดือน สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย แบบมีหลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ต่อเดือน ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน ปลอดชำระคืน 3 งวดแรก
มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ได้แก่ สินเชื่อต่อเติมซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ประสบภัยพิบัติ ดอกเบี้ยคงที่ 3 เดือนแรก 0% ต่อปี ปลอดชำระ 6 งวดแรก สำหรับลูกค้าเดิม วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย แบบใช้หลักประกันเดิม สำหรับลูกค้าใหม่ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย แบบไม่มีหลักประกัน (Clean Loan)
โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up เพื่อฟื้นฟูกิจการจากเหตุอุทกภัย ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี สำหรับผู้ประกอบการ SMEs วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย สามารถยื่นกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2567 นี้
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney