#ThairathMoney สัมภาษณ์พิเศษว่าที่ร้อยตรีประยุทธ เสตถาภิรมย์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ถึงผลการเปลี่ยนแปลงหลังการปลดล็อกนิยามโรงงานผลิตสุรา ตามประกาศกฎกระทรวงปี 2565 และทิศทางสุราชุมชนในแง่รายได้ภาษี กับการยกระดับสุราชุมชนจาก Localization สู่ Globalization
โดยหลังจากมีการออกประกาศกฎกระทรวงการคลัง เรื่องการผลิตสุรา และกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2565 เป็นต้นมา ด้วยความมุ่งหวังลดข้อจำกัดการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการผู้ผลิตสุราขนาดเล็ก ให้สามารถขยายกำลังการผลิต สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ผลของการปรับเปลี่ยนดังกล่าวทำให้เห็นภาพรวมของตลาดว่า ผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มให้ความสนใจสุราชุมชนมากขึ้น เป็นไปได้ว่าเขาอาจต้องการที่จะสนับสนุนสินค้าในท้องถิ่น สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เนื่องจากสุราเหล่านี้ผลิตจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ข้าวพื้นเมือง ผลไม้ท้องถิ่น เป็นการเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งให้ชุมชน
อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ให้ข้อมูลว่า ในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566-ก.ย. 2567) กรมฯ จัดเก็บภาษีจากสุราชุมชนได้ทั้งสิ้น 1,182 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาษีสุรากลั่นชุมชน 1,089 ล้านบาท สุราแช่ 93 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตสุราชุมชนเพื่อการค้าจำนวน 1,617 ราย แบ่งเป็น ผู้ผลิตสุรากลั่น 1,457 ราย ผู้ผลิตสุราแช่ 160 ราย
“จะเห็นว่า สัดส่วนผู้ประกอบการโรงงานสุรากลั่นทั้งจำนวนผู้ผลิตและภาษีที่จัดเก็บได้มีสัดส่วนสูงกว่าสุราแช่”
สำหรับนิยามสุราแช่ คือ สุราที่ไม่ได้กลั่น และสุราแช่ที่ผสมสุรากลั่นแล้ว แต่ยังมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี เช่น เบียร์ ไวน์ สปาร์กลิงไวน์ สุราแช่ผลไม้ สุราแช่พื้นเมือง อุ กระแช่ สาโท น้ำขาว น้ำแดง น้ำตาลเมา ที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี
ส่วนสุรากลั่น คือ สุราที่กลั่นแล้ว และสุรากลั่นที่ผสมสุราแช่แล้ว แต่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกินกว่า 15 ดีกรี เช่น สุราขาว (เหล้าขาว) สุราสามทับ (สุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป)
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีอัตราภาษีตามมูลค่าสำหรับสุราแช่ชุมชน หรือ สุราแช่ผลไม้ อุ กระแช่ สาโท หรือสุราพื้นเมืองอื่นๆ ที่มีวัตถุดิบเป็นน้ำตาลหรือข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี อยู่ที่ 0% ลดลงจากสุราแช่ทั่วไป เช่น เบียร์ มีอัตราภาษีตามมูลค่า 22% ไวน์และสปาร์กลิงไวน์จากองุ่น 5% สุราแช่ที่มีการผสมสุรากลั่นมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี 10% ขณะที่ไวน์และสปาร์กลิงไวน์มีอัตราภาษีตามปริมาณ 1,000 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เป็นต้น
ส่วนอัตราภาษีของสุรากลั่น กรณีสุราขาวอัตราภาษีตามมูลค่าอยู่ที่ 2% ตามปริมาณอยู่ที่ 155 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ วิสกี้ บรั่นดี รัม จิน ลิเคียว ภาษีตามมูลค่าอยู่ที่ 20% ตามปริมาณอยู่ที่ 255 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
ด้วยอัตราภาษีดังกล่าวที่ลดลงเฉพาะสุราแช่ชุมชน จึงส่งผลให้การจัดเก็บภาษีในกลุ่มสินค้าสุราโดยภาพรวม ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 มีรายได้ภาษีโดยรวมกว่า 150,000 ล้านบาท และภาษีส่วนใหญ่มาจากเบียร์
อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ให้ความเห็นว่า การพัฒนาเรื่องสุราชุมชน ยังจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายให้กับผู้ผลิตสุราชุมชน ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายของทางสรรพสามิต กฎหมายของสาธารณสุข ในเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเรื่องการโฆษณา ที่ต้องทำให้ผู้ผลิตเข้าใจ
อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องให้หน่วยงานรัฐผ่อนคลายเรื่องการทำโฆษณาด้วย เพราะการผลิตสินค้าต้องการ 4P คือ Product Price Place Promotion ซึ่งจำเป็นต้องมีการโฆษณาทำการตลาด แต่เรื่องนี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องหารือและหาสมดุลระหว่างการผลักดันให้สุราชุมชนทำการตลาดได้กับการดูแลผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพ
นอกจากนี้ คือการสนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ผลิตเพื่อให้สามารถต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสร้างองค์ความรู้ สร้างตลาด สร้างแบรนดิ้ง สร้าง StoryTelling
“จุดสำคัญอันหนึ่ง คือการสร้างภาพลักษณ์สุราชุมชนต้องใช้เวลาและความพยายามเราต้องดูในเรื่องของกระบวนการผลิต โรงงานต้องสะอาด สินค้าชุมชนต้องมีคุณภาพมีมาตรฐาน มีความปลอดภัย เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ เราก็จะผ่านอุปสรรคแก้ไขปัญหาต่างๆ และยกระดับจากสินค้า Localization สู่ Globalization ได้” ว่าที่ร้อยตรี ประยุทธ กล่าว
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney