จ่อรื้อโครงสร้างครั้งใหญ่ คลังดันเป้าดึงคนเข้าระบบภาษีมากขึ้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จ่อรื้อโครงสร้างครั้งใหญ่ คลังดันเป้าดึงคนเข้าระบบภาษีมากขึ้น

Date Time: 2 ธ.ค. 2567 08:02 น.

Summary

  • “ลวรณ” เตรียมชงปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคล-บุคคลธรรมดาอัตราเดียว พร้อมเสนอเลิกลดหย่อนทั้งหมด ปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม-เก็บภาษีคนรวย ให้ รมว.คลังพิจารณาเดือน ธ.ค.นี้ และจะเสนอให้เลิกตั้งงบประมาณขาดดุล

Latest

เศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังก้าวไม่พ้น K-Shape เพิ่มความเหลื่อมล้ำ คนไทยติดกับดักหนี้ "จนข้ามรุ่น"

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้เร่งศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมถึงการดึงประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันมีผู้เข้าสู่ระบบภาษีราว 11 ล้านคน แต่ชำระภาษีจริงเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งจำนวนผู้เสียภาษีเป็นเช่นนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางที่จะดึงประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีให้ได้ โดยจะเสนอแผนการปรับโครงสร้างภาษีใหม่นี้ ให้ รมว.คลัง พิจารณาภายในสิ้นปีนี้

“การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร และต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจด้วยว่าเหมาะสมที่จะปรับขึ้นภาษีหรือไม่ เพราะการปรับขึ้นภาษีเป็น ภาระประชาชน”

สำหรับแนวทางการดึงประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีนั้น เบื้องต้นจะปรับภาษีนิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.) เป็นอัตราเดียวกัน คาดว่าจะอยู่ในระดับ 15% และเพิ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) หรือภาษีคนรวย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในเมื่อคนรวยมีเงินใช้จ่ายมาก ควรจะต้องเสียภาษีมากกว่า ขณะเดียวกันจะต้องมีการยกเลิกการลดหย่อนทั้งหมด เนื่องจากมีความซับซ้อนยุ่งยากด้วย เพื่อโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีทั้งระบบ

นายลวรณกล่าวต่อว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ ถือว่าเริ่มฟื้นตัว มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น รับอานิสงส์จากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ 14.55 ล้านคน ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 145,000 ล้านบาท จะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 4%

ส่วนนโยบายการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์) นั้น เป็นนโยบายที่จะนำรายได้ที่อยู่ใต้ดิน หรือออกนอกประเทศ ให้เข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำร่างกฎหมาย คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและนำสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในปีหน้า

นายลวรณกล่าวว่า ประเทศไทยจัดทำงบประมาณขาดดุลมายาวนาน ซึ่งการขาดดุลเรื้อรัง ได้ส่งผลกระทบหลายด้าน ดังนั้นกระทรวงการคลังจะเสนอการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลระหว่างรายได้-รายจ่ายของรัฐ เพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อเสถียรภาพทางการคลังในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ไทยใช้งบ ประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี ด้วยเหตุผลที่จำเป็นหลากหลายปัจจัย ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลก ภัยธรรมชาติ วิกฤติการเมืองภายใน และวิกฤติไวรัสโควิด 19 เป็นต้น โดยปีงบประมาณ 68 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณขาดดุล 865,000 ล้านบาท.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ