เลือกตั้งใหญ่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "ทรัมป์ VS แฮร์ริส" ผลกระทบเศรษฐกิจที่แตกต่าง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เลือกตั้งใหญ่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "ทรัมป์ VS แฮร์ริส" ผลกระทบเศรษฐกิจที่แตกต่าง

Date Time: 4 พ.ย. 2567 06:30 น.

Summary

  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. 2567 ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาสำหรับไทย เพราะไม่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน หรือนางคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต จะเป็นผู้ชนะ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบที่แตกต่าง โดยเฉพาะโอกาสที่จะเกิดสงครามทางการค้า และผลต่อการไปต่อหรือจบสงครามในพื้นที่จริงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

Latest

“เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ในประเทศไทย จังหวัดไหนบ้าง? ที่ทำเลมีศักยภาพ พร้อมให้ทุนใหญ่ลงทุน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. 2567 ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาสำหรับไทย เพราะไม่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน หรือนางคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต จะเป็นผู้ชนะ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบที่แตกต่าง โดยเฉพาะโอกาสที่จะเกิดสงครามทางการค้า และผลต่อการไปต่อหรือจบสงครามในพื้นที่จริงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

เพราะนโยบายของทั้ง 2 ฝ่ายแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และนโยบายที่อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อล้วนมีนัยสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย

ยกตัวอย่างจากสถิติการตอบสนองของตลาดหุ้นหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ (Honeymoon Period) นับตั้งแต่ปี 1930 หรือหลังวิกฤติเศรษฐกิจ “Great Depression” เป็นต้นมา พบว่าหลังการเลือกตั้ง 2 เดือน (พ.ย.-ธ.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (DJIA Index) มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย +3.4% โดยมีระดับความเชื่อมั่นที่ 75% ส่วนตลาดหุ้นไทยหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ 3 เดือน มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย +3.2% และมีโอกาสในการปรับตัวขึ้นสูงถึง 82%

อีกครั้ง...ไม่ว่าใครจะชนะ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะยังคงดำเนินต่อไปและรุนแรงขึ้น ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ และการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจีน แต่หากสินค้าจีนถูกจำกัดการส่งออกไปสหรัฐฯไทยก็ควรเตรียมมาตรการรับมือกับการหลั่งไหลของสินค้าจีนเข้าไทยมากขึ้นไปอีก

ไม่ว่าจะบวกหรือลบไทยหนีไม่พ้น ต้องตระหนักรู้ รับมือ และเปิดรับโอกาสในวาระการเปลี่ยนผ่านตัวผู้นำประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก มูลค่ามากกว่า 28 ล้านล้านเหรียญ สหรัฐฯในครั้งนี้

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัท และกรรมการบริหาร

ความแตกต่างระหว่างอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย หรือนางแฮร์ริสชนะได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกนั้น หากทรัมป์กลับมา ผลกระทบที่เห็นชัดคือความขัดแย้งและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนจะรุนแรงขึ้น เพราะทรัมป์ ต้องการที่จะปกป้องธุรกิจภายในประเทศ แน่นอนกรณีดังกล่าวจะกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย

แต่สงครามจริงที่กำลังเกิดในพื้นที่ตะวันออกกลาง ความขัดแย้งกรณีไต้หวันหรือคาบสมุทรเกาหลีจะมีโอกาสลดลง รวมทั้งการสนับสนุนความช่วยเหลือยูเครน เพราะทรัมป์เป็นนักธุรกิจ รู้ดีว่าหากเกิดสงครามขึ้น จะส่งผลเสียต่อการทำธุรกิจและมีผลต่อต้นทุนทางการเงินทั่วโลก และนโยบายทรัมป์ก็ชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนการให้เงินหรือความช่วยเหลือประเทศที่ทำสงคราม นอกจากนั้น มีความเป็นได้ว่าทรัมป์จะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นและแรงขึ้น เพื่อลดโอกาสเศรษฐกิจถดถอย เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ดีขึ้น

ในทางตรงข้ามหากแฮร์ริสชนะ มองว่าจะดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งสงครามการค้าจะไม่รุนแรงขึ้นก็จริง แต่สงครามจริงในพื้นที่จะดำเนินต่อไป ซึ่งน่ากังวลเพราะหากสงครามจริงเกิดขึ้นแล้วจะไม่จบง่ายๆไม่ใช่ยิงกัน เจรจาหยุดยิงแล้วจบเหมือนสมัยก่อน เห็นได้จากในตะวันออกกลางที่ขยายจากประเทศเดียวเป็น 7 ประเทศในขณะนี้ เพราะต่างฝ่ายต่างแก้แค้นกันไปมา หาพันธมิตรเพิ่มขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น อาจทำให้พื้นที่สงครามขยายไปยังที่อื่น

“ประเด็นที่ผมกังวลมากที่สุด คือการเกิดสงครามจริงรุนแรงขึ้นมากกว่าจะกังวลสงครามการค้าที่รุนแรง เพราะสงครามจริงจะส่งผลต่อเส้นทางขนส่ง ต้นทุนการค้า การเงิน ต้นทุนพลังงานกระทบทั่วโลก ขณะที่หากเป็นสงครามการค้าที่กีดกันจีนมากขึ้น อาจทำให้ไทยมีโอกาสส่งสินค้าทดแทนจีน ขณะที่บริษัทจีนหรือประเทศอื่นๆที่มีฐานผลิตที่จีนจะย้ายมาลงทุนที่ประเทศไทยมากขึ้นได้เช่นกัน”

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

การเลือกตั้งสหรัฐฯในครั้งนี้ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยหากนางแฮร์ริสที่สนับสนุนการค้าเสรีได้รับชัยชนะ อาจผลักดันให้สหรัฐฯเร่งรัดการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่สหรัฐฯเป็นผู้ริเริ่มให้สำเร็จ รวมทั้งอาจกลับเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่สหรัฐฯเคยเข้าร่วม แต่ถอนตัวในปี 2560 สมัยนายทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยพิจารณาเข้าร่วม เพื่อให้ไทยขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนได้กว้างขวางกว่าเดิม

ส่วนมาตรการทางภาษีกับจีน แม้จะนุ่มนวลกว่าทรัมป์ แต่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้ไทยอาจต้องกระจายความเสี่ยง และหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งผลดีต่อการลงทุนไทยหลายด้าน โดยเฉพาะเทคโนโลยีสะอาด นวัตกรรม พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ แต่ก็อาจทำให้เกิดมาตรการทางการค้าใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่นโยบายควบคุมเงินเฟ้อ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด (Fed) ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของเงินบาทและเงินเฟ้อในไทยได้

แต่หากทรัมป์ชนะ นโยบาย “America First” นโยบายการค้าแบบปกป้อง (Protectionism) และการใช้มาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อดึงการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ อาจส่งผลให้การลงทุนจากสหรัฐฯในไทยลดลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ อีกทั้งอาจเกิดการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์ หรือเทคโนโลยี 5G ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย

นอกจากนี้ อาจมีการเพิ่มภาษีนำเข้า โดยเฉพาะจากจีนเป็น 60% หรือมากกว่า ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น และความต้องการสินค้าทดแทนจากไทยในตลาดสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกันสหรัฐฯอาจใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยต้องเตรียมพร้อมปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ขณะที่นโยบายที่เน้นลดดอกเบี้ย นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อาจทำให้เงินเฟ้อไทยสูงขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์

ประเมินโอกาสชนะของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Trump) สูงกว่านางคามาลา แฮร์ริส (Harris) และคาดว่าพรรครีพับลิกันจะควบอำนาจมีที่นั่งส่วนใหญ่ในสภา หากเป็นไปตามนั้นคาดว่า  ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้สหรัฐฯ (Bond Yield) จะมีทิศทางขาขึ้น แต่จะมาพร้อมกับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับมุมมองความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นไทยต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้น ทิสโก้คาดว่ากรณีทรัมป์ชนะ คาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับขึ้นทันที จากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 15% ซึ่งมีการประเมินว่าจะช่วยเพิ่มกำไรของบริษัทใน S&P 500 ประมาณ 4% กรณีแฮร์ริสชนะ การเสนอเพิ่มภาษีนิติบุคคลเป็น 28% ส่งผลลบต่อกำไรประมาณ-5% ถึง-8%เมื่อรวมผลจากนโยบายด้านภาษีอื่นๆ

ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นเอเชีย กรณีทรัมป์ชนะ นโยบายขึ้นภาษีนำเข้า (60% กับจีน, 10% กับประเทศทั่วไป) อาจไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นเอเชีย เนื่องจากราคาสินค้านำเข้าของสหรัฐฯจะสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดดอกเบี้ยลงน้อยกว่าที่คาด กรณีแฮร์ริสชนะอาจคลายความกังวลเรื่องภาษีนำเข้า ส่งผลบวกต่อบรรยากาศการลงทุนในเอเชีย

ส่วนผลกระทบต่อตลาดพันธบัตร อัตราผลตอบแทน Bond Yield 10 ปี อาจปรับสูงขึ้น เนื่องจากนโยบายของทั้งคู่น่าจะส่งผลให้สหรัฐฯขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นคล้ายกัน โดยหากทรัมป์ชนะและพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก อาจหนุน Bond Yield สูงถึง +40 bps ในขณะที่แฮร์ริสชนะและไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากทั้งสองสภาอาจส่งผลต่อ Bond Yield มากสุดที่ประมาณ +20 bps

สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่

หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง มองด้านบวกเศรษฐกิจโลกจะรอดจากภาวะถดถอย เพราะมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 15% จะกระตุ้นให้ธุรกิจในสหรัฐฯเพิ่มการจ้างงานและปรับขึ้นค่าแรงส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตขึ้น ราคาน้ำมันดิบโลกจะลดลง จากนโยบายส่งเสริมการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯและการทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศตะวันออก กลาง และรัสเซีย รวมทั้งน่าจะมีการย้ายฐานการ ลงทุนมาไทยเพิ่มขึ้น เพราะภาษีการค้าที่กำหนดต่อจีนจะกระตุ้นให้บริษัทจีนย้ายฐานไปยังประเทศอื่น ช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ส่วนด้านลบมองว่า การส่งออกของไทยจะเสี่ยงโตช้า จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมทั้งต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลจะอยู่ระดับสูงตามความเสี่ยงทางการคลัง รายได้ภาคเกษตรของไทยเสี่ยงลดลงตามราคาสินค้าตลาดโลก กดดันให้อุปสงค์ในประเทศไทยอ่อนแอตาม

หากรองประธานาธิบดีแฮร์ริสชนะ คงเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่มาก เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากประธานาธิบดีไบเดน โดยไทยต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน และต้องไม่เข้าข้างฝ่ายใด ระมัดระวังในการจัดการด้านความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐฯและจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการตกอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น หันไปเพิ่มบทบาทในเวทีโลกโดยใช้อาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรอง

นอกจากนั้น หากแฮร์ริสชนะ คาดว่าเฟดจะทยอยปรับลดดอกเบี้ยตามทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลง นักลงทุนจะลดความสนใจในเงินดอลลาร์ลง เงินบาทน่าจะแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ สหรัฐฯในปลายปี 2025 ส่วนการส่งออก คาดว่านอกจากจะชะลอตัวและกดดันการลงทุนภาคเอกชนให้เติบโตช้าลงแล้ว ความต้องการในประเทศจะอ่อนแอตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคการเกษตรทั่วประเทศ รวมทั้งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ชนบท.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ