ภาคเอกชน ครัวเรือนไทย ยังเผชิญกับปัญหารายได้ฟื้นตัวช้า ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้นเร็ว รวมไปถึงภาระหนี้สูง และมีแนวโน้มจะกลายเป็นปัญหาหนี้สะสมในระยะยาว
โดยผลสำรวจ SCB EIC Consumer Survey 2024 ล่าสุด พบว่า โดยเฉลี่ยของกลุ่มคนในทุกระดับรายได้เกือบ 40% มีปัญหาในการจ่ายหนี้ และสัดส่วนคนมีปัญหานี้จะเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนที่มีรายได้ลดลง
ความน่ากังวลคือ มีแนวโน้มค้างชำระหนี้บ่อยครั้งหรือบางครั้งมากขึ้น และแม้ว่าจะชำระหนี้สม่ำเสมอ แต่เป็นการชำระหนี้แบบขั้นต่ำ ส่งผลให้หนี้สินเพิ่มจากภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการชำระหนี้ไม่เต็มจำนวน
ซึ่งจะส่งผลต่อในระยะข้างหน้า ทำให้สถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นอีก และจะกลายเป็นแรงกดดันสำคัญต่อการบริโภค แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ต.ค. ลง 0.25% เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้ก็ตาม
SCB EIC ยังชี้ให้เห็นสัญญาณความไม่สดใสของ “การบริโภคภาคเอกชน” ที่เคยเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจหลัก หรือพระเอกของเศรษฐกิจไทย ในช่วงปี 2565-2566 หลังวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ที่มีการขยายตัวสูงถึง 6.2% และ 7.1% ตามลำดับ ขณะช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ก็ยังขยายตัวได้ดี
แต่ภาวะปัจจุบันเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าตลอดทั้งปี 2567 การบริโภคภาคเอกชนจะลดบทบาทลงและขยายตัวได้แค่ 3.7% เท่านั้น ขณะปีหน้า 2568 อาจชะลอไปอยู่ที่ 2.4% เลยด้วยซ้ำ จากผลสำรวจที่พบว่า คนไทยกว่า 50% มีแนวโน้มที่จะลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการลง ในระยะ 1 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสื้อผ้า การรับประทานอาหารนอกบ้าน และใช้จ่ายไปกับความบันเทิง
ขณะยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ และยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มีตัวเลขลดลงต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากสถาบันการเงินเข้มการปล่อยสินเชื่อแล้ว ผู้บริโภคบางส่วนยังรอดูสถานการณ์อีกด้วย
เจาะแรงส่งที่รัฐบาลคาดหวัง จากการต้องการให้เงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาทนั้น
ในมุมมองของ SCB EIC มองว่าโครงการนี้มีผลบวกต่อเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเม็ดเงินทั้งหมดอาจไม่ได้ใช้จ่ายเข้าสู่เศรษฐกิจโดยตรง สะท้อนจากผลสำรวจ SCB EIC Consumer Survey ก่อนหน้า ที่พบว่า ผู้ได้รับสิทธิบางส่วนจะนำเงินไปออมหรือชำระหนี้ รวมถึงใช้จ่ายเงินนี้แทนรายจ่ายปกติที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเฟส 2 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568 ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ที่มา : SCB EIC
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney