ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว สำหรับการคัดเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ แทนที่นายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังกระบวนการยืดเยื้อมาหลายเดือน โดยการเลือกตั้งประธานบอร์ด หรือประมุขในฝั่งการเงินครั้งนี้ถูกจับตาอย่างมาก เพราะการเปิดประเด็นถึงฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะในฝั่งของรัฐบาล ที่อาจเข้ามาแทรกแซงการคัดเลือกครั้งนี้ และอาจทำให้ ธปท.ไม่เป็นอิสระในการดำเนินนโยบาย
โดยล่าสุด สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และกรรมการ ธปท.ได้นัดหมายการประชุมเพื่อลงคะแนนคัดเลือกในวันที่ 4 พ.ย. 2567 เวลา 14.00 น.
สำหรับการสรรหาในครั้งนี้มีการเสนอชื่อประธานและกรรมการจาก ธปท. 6 รายชื่อ ประกอบไปด้วยประธาน 2 รายชื่อ และกรรมการ 4 รายชื่อ ส่วนกระทรวงการคลัง สามารถเสนอชื่อได้ 1 เท่าของผู้ที่หมดวาระ
Thairath Money พาเปิดประวัติ 3 แคนดิเดตชิงเก้าอี้ประธานบอร์ด ธปท.ก่อนลงคะแนนคัดเลือกวันที่ 4 พ.ย. นี้
กิตติรัตน์ ณ ระนอง แคนดิเดตที่ถูกเสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง เกิดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2501 ปัจจุบันอายุ 66 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ, มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ก่อนเข้าสู่การเมือง นายกิตติรัตน์เริ่มต้นทำงานในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เมื่อพ้นตำแหน่งยังได้ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงมีบทบาทสำคัญในหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรพัฒนาเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกหลายแห่ง
สำหรับผลงานสำคัญทางการเมือง ในปี 2555 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในปีเดียวกันได้รับการแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจากที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้ในปี 2564 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยปล่อยปละละเลยให้มีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทสยามอินดิก้าเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายข้าวกับองค์การคลังสินค้า เพื่อปรับปรุงคุณภาพข้าวและส่งมอบให้แก่องค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซียหรือ BULOG โดยไม่จัดให้มีการแข่งขันกับผู้เสนอราคารายอื่น ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้อุทธรณ์ จึงมีหนังสือไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุดว่ามีความประสงค์จะขออุทธรณ์ แต่ขณะนี้อัยการสูงสุดยังไม่ได้ตัดสินว่าจะอุทธรณ์ตามความประสงค์ของ ป.ป.ช. หรือไม่
แคนดิเดตที่ถูกเสนอชื่อโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2506 ปัจจุบันอายุ 61 ปี จบปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบการศึกษาปริญญาโทสาขารัฐประศาสนศาสตร์จาก San Diego State University และบริหารธุรกิจจาก University of Southern California ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งยังผ่านการอบรมหลักสูตรบริหารระดับสูง เช่น หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรและวิทยาการพลังงาน
โดยหลังจากจบการศึกษาได้เริ่มรับราชการที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นอธิบดีกรมศุลกากร ต่อมาได้ย้ายข้ามกระทรวงเข้าดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 เมื่อครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 30 ก.ย. 2565 ครม.มีมติต่ออายุให้นั่งตำแหน่งเดิมอีก 1 ปี กลายเป็นปลัดพลังงานคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนานสุด 5 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงพลังงานมา จากนั้นได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประธานกรรมการ EGCO ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่
แคนดิเดตที่ถูกเสนอชื่อโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกิดเมื่อ 19 ก.ย. 2503 ปัจจุบันอายุ 64 ปี จบการศึกษามัธยมศึกษาจากโรงเรียนเลยพิทยาคม สำเร็จการศึกษาสาขานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัย Soka ประเทศญี่ปุ่น และปริญญาโทและปริญญาเอก (เกียรตินิยม) สาขากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัย Robert Schuman ประเทศฝรั่งเศส
เข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี 2547–2553 ก่อนหน้านั้นเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ ตลอดชีวิตการทำงานเขาเป็นบุคคลที่มีความสำคัญทั้งในแวดวงการศึกษา การเมือง และกฎหมายของไทย โดยมักเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และมักแสดงจุดยืนวิจารณ์การบังคับใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน โดยเฉพาะในประเด็นการทุจริตที่เพิ่มมากขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 ซึ่งเขามองว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลเสียต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย
ล่าสุดได้เป็นพยานสำคัญในคดียุบพรรคก้าวไกล โดยแสดงจุดยืนว่า การยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลของ กกต. นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค อาจนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ของพรรค เป็นการที่ ส.ส. ใช้อำนาจนิติบัญญัติในการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน), นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์ประจำสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์การมหาชน (กพม.), กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney