ไทย "พันธมิตรหุ้นส่วน" BRICS

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทย "พันธมิตรหุ้นส่วน" BRICS

Date Time: 31 ต.ค. 2567 05:06 น.

Summary

  • “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า” หรือ สนค. ระบุว่า แม้การเป็นพันธมิตรหุ้นส่วน ยังไม่ใช่การเป็นสมาชิกเต็มตัว แต่ไทยจะได้รับโอกาสในความร่วมมือต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งการค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดวางตำแหน่งทางการเมือง

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ไทยเป็น 1 ใน 13 “พันธมิตรหุ้นส่วน” ของ “กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่” (BRICS) หลังส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.67 และที่ประชุม BRICS Plus Summit 2024 วันที่ 22–24 ต.ค.67 ณ เมืองคาซาน รัสเซีย มีมติรับไทย และอีก 12 ประเทศ

ประกอบด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา คาซัคสถาน ไนจีเรีย ตุรกี ยูกันดา และอุซเบกิสถาน

BRICS ก่อตั้งเมื่อปี 52 มีสมาชิกก่อตั้ง 4 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน โดยใช้ชื่อว่า BRIC แต่ต่อมาปี 53 ได้เพิ่มแอฟริกาใต้ และเปลี่ยนชื่อเป็น BRICS จากนั้นต้นปี 67 ได้รับสมาชิกใหม่อีก 5 ประเทศ คือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ทำให้ปัจจุบัน BRICS กลายเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ ทั้งด้านขนาดเศรษฐกิจ ขนาดประชากร การค้า และการถือครองทรัพยากรพลังงานของโลก

ถือเป็นข่าวดีของไทย และเป็นการแสดงจุดยืนในการถ่วงดุลของมหาอำนาจประเทศต่างๆ!!

หลังจากปี 65 ไทยได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วน “กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” หรือ IPEF ที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ มีสมาชิก 14 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ฯลฯ

และจากนั้นได้ส่งหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก “องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา” หรือ OECD ที่ก่อตั้งโดยประเทศในฝั่งยุโรปตะวันตก ปัจจุบันมีสมาชิก 38 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีรายได้สูง

“สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า” หรือ สนค. ระบุว่า แม้การเป็นพันธมิตรหุ้นส่วน ยังไม่ใช่การเป็นสมาชิกเต็มตัว แต่ไทยจะได้รับโอกาสในความร่วมมือต่างๆ เพิ่มขึ้น

ทั้งการค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดวางตำแหน่งทางการเมือง

แต่มีข้อจำกัดที่ต่างจากสมาชิกเต็มตัว ได้แก่ สิทธิออกเสียงในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน และการเข้าถึงเงินช่วยเหลือจากกองทุนสำรองฉุกเฉิน และการขยายพันธมิตร

นอกจากนี้ ไทยยังจะได้รับประโยชน์จากการมีตลาดการค้าที่กว้างขวางขึ้น ช่วยสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน ดึงดูดนักลงทุนจาก BRICS เข้าไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเกิดการจ้างงาน

ขณะเดียวกันยังช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ จากจุดยืนความ “เป็นกลาง” และ “แสวงหาสันติภาพ” ช่วยกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต และยังช่วยเพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย

หวังว่าการแสดงท่าที “เป็นกลาง” จะนำพาไทยรอดพ้นจากภัยร้าย และเศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดด ไม่กลายเป็น “หญ้าแพรก” ที่แหลกลาญท่ามกลางการสู้รบของมหาอำนาจ!!


ฟันนี่เอส

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ