รู้จัก Pyramid Scheme โมเดลแชร์ลูกโซ่ ขายฝัน ในคราบธุรกิจขายตรง คนบนยอดพีระมิดเท่านั้นที่ชนะ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รู้จัก Pyramid Scheme โมเดลแชร์ลูกโซ่ ขายฝัน ในคราบธุรกิจขายตรง คนบนยอดพีระมิดเท่านั้นที่ชนะ

Date Time: 16 ต.ค. 2567 12:25 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • Thairath Money พาทำความรู้จักธุรกิจพีระมิด (Pyramid Scheme) โมเดลแชร์ลูกโซ่ในคราบธุรกิจขายตรง คืออะไร พร้อมวิธีแยกความแตกต่างระหว่างธุรกิจ "ขายตรง" กับ "แชร์ลูกโซ่" ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหลอกลงทุน

Latest


กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สังคมให้การจับตามองอยู่ขณะนี้ กรณี “ดิไอคอน กรุ๊ป (The iCon Group)” ธุรกิจตลาดแบบตรงที่ถูกตั้งข้อสงสัยถึงรูปแบบการทำธุรกิจ โดยใช้ดาราแถวหน้าเป็นแม่ข่าย สร้างทีมขาย จนปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายเกือบ 400,000 คน แต่ส่วนใหญ่ขายสินค้าไม่ได้ และต้องสูญเงินลงทุน มูลค่าความเสียหายกว่า 400 ล้านบาท จนถูกตั้งข้อสงสัยจากสังคมว่า ธุรกิจของบริษัทเน้นกลยุทธ์หารายได้จากการหาลูกทีม มากกว่าการขายสินค้าหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพิสูจน์กันต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวทำให้หลายคนนึกถึงโมเดลธุรกิจ “พีระมิด” หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “แชร์ลูกโซ่” ซึ่งเป็นการหลอกให้คนลงทุนต่อกันเป็นทอดๆ แต่คนที่ได้รับผลประโยชน์จริงๆ มีแค่กลุ่มคนบนยอดพีระมิดเท่านั้นที่เป็นผู้ชนะ

Thairath Money พาทำความรู้จักธุรกิจพีระมิด (Pyramid Scheme) โมเดลแชร์ลูกโซ่ในคราบธุรกิจขายตรง คืออะไร พร้อมวิธีแยกความแตกต่างระหว่างธุรกิจขายตรงกับแชร์ลูกโซ่ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหลอกลงทุน

Pyramid Scheme คืออะไร

โมเดลธุรกิจผิดกฎหมายระดับโลกที่มีอายุมากกว่าร้อยปี โดยจะดำเนินธุรกิจด้วยการเชิญชวนให้คนมาลงทุนในสินค้าและบริการ แลกกับผลตอบแทนที่สูงเกินจริงในระยะเวลาสั้นๆ โดยจะเน้นให้จ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อสมัครเป็นสมาชิกของบริษัท และกระตุ้นให้สร้างเครือข่าย หาสมาชิกมาลงทุนต่อกันเป็นทอดๆ และนำเงินลงทุนจากสมาชิกรายหลังมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับสมาชิกรายก่อนหน้า จึงไม่ได้มีกำไรจากการขายสินค้าที่แท้จริง เปรียบเสมือนกับรูปทรงพีระมิด ซึ่งผู้ร่วมลงทุนรายก่อนจะอยู่บนยอดคอยรับเงินตอบแทนจากผู้ร่วมลงทุนกลุ่มถัดไป ลดหลั่นกันไปตามระดับ เมื่อมีจำนวนสมาชิกสูงสุด จนไม่สามารถหาสมาชิกใหม่เพิ่มได้แล้ว จะเริ่มขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถหาเงินก้อนใหม่มาจ่ายให้สมาชิกที่เหลือได้ สุดท้ายพีระมิดก็ล่มสลาย เหลือแต่สมาชิกที่อยู่ระดับสูงสุดและส่วนบนๆ ของพีระมิดเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์

ทั้งนี้โมเดลแชร์ลูกโซ่มักแอบแฝงมาในคราบธุรกิจขายตรง โดยเฉพาะรูปแบบการขายตรงแบบเครือข่าย (Multi-Level Marketing: MLM) ซึ่งผู้ขายต้องมีการสร้างทีมขายของตัวเอง เพื่อกระจายสินค้าและบริการ โดยจะได้รายได้เป็นค่าแนะนำและส่วนแบ่งจากยอดขายของสมาชิกใหม่ รวมถึงบางบริษัทอาจมีการจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ทำให้มิจฉาชีพใช้โมเดลการทำรายได้จากเครือข่าย หลอกล่อให้คนเข้ามาสมัครเพิ่ม โดยเน้นให้จ่ายค่าธรรมเนียมราคาแพงเพื่อสต็อกสินค้าจำนวนมาก มากกว่าการมุ่งทำกำไรจากการขายสินค้า พัฒนาทักษะสมาชิกให้สามารถปิดการขายโดยตรงกับลูกค้าได้

ตัวอย่างธุรกิจพีระมิด

ตัวอย่างคดีแชร์ลูกโซ่ในคราบการขายตรงในอดีตที่เห็นได้ชัด มหากาพย์ “เมจิกสกิน” ผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมผิดกฎหมายที่ทำเอาดาราแถวหน้าค่อนวงการถูกดำเนินคดีฐานโฆษณาเท็จ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง กระตุ้นยอดขาย หลอกล่อให้คนเข้าร่วมเครือข่ายจ่ายเงินสต็อกสินค้าจำนวนมาก และหาลูกทีมมารับซื้อสินค้าต่อให้ได้ตามยอดที่กำหนด เพื่อแลกกับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่สูงเกินจริง จนมีคนหลงเชื่อจำนวนมาก สร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

รู้ทันธุรกิจแชร์ลูกโซ่

แม้โมเดลธุรกิจขายตรงและแชร์ลูกโซ่จะมีความคล้ายกันมา แต่ก็มีข้อแตกต่างที่สามารถสังเกตได้       “สมาคมธุรกิจขายตรงไทย” ได้ชี้แจงรูปแบบธุรกิจขายตรงที่ถูกต้อง 8 ข้อ ดังนี้

1. ผู้ประกอบธุรกิจต้องจดทะเบียนก่อนการประกอบธุรกิจขายตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

2. ค่าธรรมเนียมในการสมัครเป็นผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงต้องมีความเหมาะสม เงินค่าสมัครจ่ายเพื่อคู่มือความรู้ เอกสารฝึกอบรม และสินค้าตัวอย่างเท่านั้น

3. มีความรับผิดชอบต่อผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงโดยมีแผนธุรกิจที่เป็นไปได้จริง และคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

4. การจ่ายผลตอบแทน รายได้ และตำแหน่งให้แก่ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง ต้องมาจากการขายสินค้าหรือบริการ ไม่ใช่การระดมทุนหรือใช้เงินซื้อตำแหน่ง โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นแผนธุรกิจในการจ่ายผลตอบแทนเพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาและอนุมัติ

5. เน้นการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ยอดขายมาจากการจำหน่ายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ได้มาจากการกักตุนสินค้าของผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง และคำนึงถึงความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ

6. มีการรับประกันความพอใจของสินค้า โดยลูกค้าสามารถคืนสินค้ากับบริษัทได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

7. มีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการดำเนินธุรกิจ เพื่อปกป้องผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง และผู้บริโภค

8. ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง ต้องไม่กล่าวอ้างหรือโฆษณาสรรพคุณของสินค้าเกินจริง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ