กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% เบาภาระหนี้ครัวเรือน ยันไร้แรงกดดันการเมือง ชี้รับฟังทุกฝ่าย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% เบาภาระหนี้ครัวเรือน ยันไร้แรงกดดันการเมือง ชี้รับฟังทุกฝ่าย

Date Time: 16 ต.ค. 2567 18:13 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง หั่นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ยันไร้แรงกดดันการเมือง ปัจจัยเปลี่ยน เปิดช่องว่างลดภาระหนี้ครัวเรือน
  • แจงไม่ใช่จุดเริ่มต้นวัฏจักรลดดอกเบี้ย เตรียมถกกรอบเงินเฟ้อ สิ้น ต.ค.นี้

วันนี้ (16 ต.ค. 2567) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ต่อปี

โดย กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประเมินไว้ และกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน ท่ามกลางการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอลง จึงเห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2.25% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ ในคณะกรรมการอีก 2 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 2567 เป็น 2.7% จากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.6% โดยมีขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง โดยได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โอนเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง อย่างไรก็ตามปรับลดประมาณการ GDP ปี 2568 เหลือ 2.9% จากระดับ 3.0% โดยเป็นผลจากอุปสงค์โลกชะลอลง และความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะกลับเข้ากรอบเป้าหมายในช่วงสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อตลอดปีจะเคลื่อนเข้าสู่กรอบล่างที่ 0.5% โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นความเสี่ยงภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังปรับเพิ่มขึ้น และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ที่ 1.2%

มุ่งแก้หนี้ครัวเรือน ไร้แรงกดดันการเมือง

สำหรับเหตุผลการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ที่สังคมจับตามองว่า เป็นผลมาจากแรงกดดันทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ สักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน กล่าวว่า กนง. เผชิญกับแรงกดดันมาโดยตลอด ในการตัดสินนโยบายการเงินต้องพิจารณาข้อมูลจากหลายภาคส่วน ซึ่งมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และภาคเอกชนตลอด

แต่การปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้ไม่เกี่ยวกับแรงกดดันทางการเมือง กนง. ให้น้ำหนักกับปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นสำคัญ เพื่อปรับสมดุลระหว่างเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability) และกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP (debt deleveraging) ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อดอกเบี้ยลดลง จะช่วยลดภาระหนี้แม้ไม่มาก แต่ช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น สอดคล้องกับคาดการณ์สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่คาดว่าจะชะลอลง ตามการเติบโตของสินเชื่อ และรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น

ไม่เข้าวัฏจักรลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นวัฏจักรลดดอกเบี้ย (Easing cycle) เพื่อปรับลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการปรับเพื่อรอดูผลกระทบจากการลดครั้งนี้ โดยจับตามองพัฒนาการการก่อหนี้ใหม่ ทั้งนี้คาดว่าผลของการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้จะส่งผ่านไปยังสถาบันการเงินในอัตราครึ่งหนึ่งใกล้เคียงกับในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการหารือกรอบเงินเฟ้อระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท. ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท. กล่าวว่าจะมีการนัดหารือเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อระยะช่วงสิ้นเดือนนี้

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ