แบงก์ชาติ ยอมรับเงินบาท “แข็งค่า” นำสกุลเงินอื่นในภูมิภาค พร้อมแทรกแซง หากกระทบเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์

Tag

แบงก์ชาติ ยอมรับเงินบาท “แข็งค่า” นำสกุลเงินอื่นในภูมิภาค พร้อมแทรกแซง หากกระทบเศรษฐกิจ

Date Time: 25 ก.ย. 2567 14:59 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • เงินบาทแข็งค่าเร็ว ทะลุระดับ 33 บาท ใน 1 เดือน ธปท.ยอมรับตั้งแต่ต้นปี บาทแข็งค่าไปแล้ว 3.8% นำหลายสกุลเงินอื่นในภูมิภาค
  • จากดอลลาร์อ่อน เพราะเฟดลดดอกเบี้ย จีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินทุนต่างชาติไหลเข้า และราคาทองคำที่ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

“เงินบาทแข็งค่า” หลุดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ กระทบการส่งออก กำลังเป็นประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความกังวลว่าการที่บาทแข็งค่าเร็วเกินไปจะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันและรายได้ของผู้ประกอบการ จนฉุดเป้าการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเมื่อวันที่ 23 ก.ย. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือปกขาว ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอผลักดันการส่งออกไทย และข้อเรียกร้องให้ภาครัฐหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพเหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจ

ส่งผลให้เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้นัดหารือประเด็นดังกล่าวกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์หน้า

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันนี้ ค่าเงินบาทเปิดเช้าที่ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมากจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 1% ต่อปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จะกระทบรายได้ส่งออกไทยเป็นมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของ GDP โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก หรือ Local Content เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์อัปเดตสถานการณ์ค่าเงินบาท นางสาวพิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนมากขึ้น โดยปรับแข็งค่าขึ้น 3.8% ตั้งแต่ต้นปี และปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง มากกว่าการคาดการณ์ของตลาด ประกอบกับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันด้านแข็งค่าเพิ่มเติมจากปัจจัยในประเทศ ทั้งเงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม รวมถึงราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,670 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์

ทั้งนี้ ธปท. ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์