วันนี้ (3 ธ.ค. 2567) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Thailand Next Move 2025 จัดโดยวารสารการเงินธนาคาร ภายใต้หัวข้อ นโยบายการเงิน: การสร้าง Resiliency for an Uncertain World โดยกล่าวถึงแนวโน้มความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
โดยมองว่า ท่ามกลางการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (economic fragmentation) การค้าและการลงทุนแตกย่อยออกจากกัน จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนโตช้าลงในระยะหลัง เราจึงเห็นจีนเร่งการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอาเซียน รวมถึงไทย โดยตั้งแต่ปี 2564 ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดในปี 2566 พบว่า ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนมากถึง 71,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมูลค่านำเข้ามากเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากเวียดนาม ซึ่งการที่ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและการบริโภคสินค้าของไทย ที่ในระยะหลังเริ่มเชื่อมโยงกันน้อยลงอย่างชัดเจน หมายความว่า การบริโภคที่เติบโตอาจไม่ได้ช่วยสนับสนุนให้ภาคการผลิตนั้นโตตามไปด้วย
สะท้อนจากอัตราการเติบโตของ GDP ในภาคการผลิตและการบริโภคสินค้าที่เติบโตสวนทางกัน ตั้งแต่ปี 2564-ไตรมาส 3 ของปี 2567 โดยภาคการผลิต GDP เติบโตเฉลี่ยรายไตรมาสที่ 0.6% ในขณะที่การบริโภคสินค้าเติบโตที่ 2.1% โดยมีความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างกัน 0.05% ซึ่งลดลงจากระดับ 0.79% ในปี 2555-2563
ทั้งนี้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจผลักดันให้จีนส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ไม่ได้กระทบแค่ภาคการผลิตเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อเนื่องไปถึงการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2567 จากการเข้ามาตีตลาดของรถไฟฟ้าจีน ข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 3 พบว่า สินเชื่อเช่าซื้อหดตัวแรงที่ 7.6% เช่นเดียวกับรถยนต์มือสองที่ราคาตกลง 14.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี
นอกจากนี้ผู้ว่าแบงก์ชาติยังมองว่า ปัญหาในภาคการผลิตที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มาจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก เนื่องจากศักยภาพการแข่งขันของไทยที่ถดถอยลง ในขณะที่การบริโภคไม่ได้เติบโตชะลอลงมากเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้นนโยบายกระตุ้นการบริโภคอาจไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ในทางตรงกันข้าม หากกระตุ้นการบริโภคมาก ๆ อาจทำให้สินค้าจากจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มนี้จะยังดำเนินต่อไปในปีหน้า
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney