โรงภาษีร้อยชักสาม สู่...แลงแฮม แบงค็อก

Money

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โรงภาษีร้อยชักสาม สู่...แลงแฮม แบงค็อก

Date Time: 10 ก.ย. 2567 05:03 น.

Summary

  • แลงแฮม ฮอสปิทาลิตี้ กรุ๊ป (Langham Hospitality Group: LHG) และแรบบิท โฮลดิ้งส์ ในเครือ บีทีเอส กรุ๊ป ประกาศเปิดตัว โรงแรมเดอะแลงแฮม แบงค็อก (The Langham Bangkok) ณ โรงภาษีร้อยชักสาม หรือศุลกสถาน (Customs House) ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้คนไทยยังมีกำลังซื้อ นโยบายกระตุ้นบริโภค ไม่ช่วยฟื้นภาคการผลิต

“โรงภาษีร้อยชักสาม” ชื่อนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของหลายๆคนอีกครั้ง!! หลังจาก แลงแฮม ฮอสปิทาลิตี้ กรุ๊ป (Langham Hospitality Group: LHG) และแรบบิท โฮลดิ้งส์ ในเครือ บีทีเอส กรุ๊ป ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ระบุว่า...

สิ้นสุดการรอคอย ด้วยการประกาศเปิดตัว โรงแรมเดอะแลงแฮม แบงค็อก (The Langham Bangkok) ณ โรงภาษีร้อยชักสาม หรือศุลกสถาน (Customs House) ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดเผยภาพความคืบหน้าของการก่อสร้างโรงแรมสุดหรูระดับ 5 ดาว แลนด์มาร์กแห่งใหม่ ย่านบางรัก ซึ่งตามกำหนดการจะเปิดให้บริการกลางปี 2568 เป็นต้นไป

สำหรับ “โรงภาษีร้อยชักสาม” ณ แห่งนี้ เป็นที่ดินราชพัสดุ อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ เป็นที่ดินที่มีศักยภาพสูงมาก มีอาคารโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ด้านวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมกว่า 130 ปี ที่สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง

แต่เดิม ณ ที่ดินแปลงนี้ เป็นสถานีที่จัดเก็บภาษีอากรขาเข้าของกรมศุลกากร ในอดีตเรียกเก็บภาษีในอัตรา 3% หรือ 100 บาทจัดเก็บภาษี 3 บาท จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรงภาษีร้อยชักสาม” ซึ่งเรียกกันติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อมีการเปิดท่าเรือแห่งใหม่ ย้ายกรมศุลกากรไปอยู่ย่านคลองเตย ต่อมาเป็นที่ทำการของกองบังคับการตำรวจน้ำ และสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก และที่สุดมีการโยกย้ายกันออกไป ปล่อยให้รกร้างอยู่นานหลายปี

กรมธนารักษ์จึงได้นำที่ดินราชพัสดุแปลงนี้ มาเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจยื่นประมูล และที่สุดได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาเช่าที่ดินแห่งนี้ กับบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี 2548 และมีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมในปี 2562

ภายใต้เงื่อนไขในสัญญานั้น ต้องรักษาสภาพสถาปัตยกรรมเดิมไว้ และจะต้องสร้างอาคารชดเชยให้กับกองบังคับการตำรวจน้ำ พร้อมทั้งชำระผลประโยชน์ให้กรมธนารักษ์ คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,660 ล้านบาท รวมถึงการโอนทรัพย์สินคืนให้กรมธนารักษ์ หลังจากนั้นเอกชนผู้ชนะประมูลจึงจะมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าวที่ลงทุนไป โดยเอกชนได้ใช้เงินลงทุนราว 3,000 ล้านบาท เพื่อบูรณะซ่อมแซมและสร้างโรงแรมสุดหรู

โดยมีระยะสัญญา 30 ปี ไม่นับรวมระยะเวลาการก่อสร้าง 6 ปี ซึ่งคู่สัญญาได้เริ่มก่อสร้างเมื่อกลางปี 2562 และขณะนี้ใกล้ครบกำหนดสัญญาแล้ว ที่จะต้องเปิดให้บริการโรงแรมสุดหรูระดับ 5 ดาว หรือเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนที่จะเปิดให้บริการ ซึ่งตามแผนเดิมจะเปิดให้บริการในเดือน พ.ค. 2568 นี้

“โรงภาษีร้อยชักสาม” เป็นหนึ่งในแปลงที่ดินของราชพัสดุ ที่กรมธนารักษ์ได้นำมาประมูลตามโครงการพัฒนาอาคารราชพัสดุทรงคุณค่า ยังมีอาคารราชพัสดุแปลงอื่นๆอีกหลายแห่ง ซึ่งกรมธนารักษ์ได้สำรวจไว้บางส่วนแล้ว มีราว 66 แห่งทั่วประเทศ และได้ทยอยเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจร่วมบูรณาการปรับปรุงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้ เพื่อรักษาสิ่งดีๆไว้ให้ลูกหลานได้เห็นคุณค่า

อาทิ สำหรับบ้านพระประเสริฐวาณิช (เขียว) หรือวังค้างคาว เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ได้นำมาเปิดประมูลแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง โดยกรมธนารักษ์จะได้รับค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าขั้นต่ำ เป็นเงิน 1,745 ล้านบาท ค่าเช่าในอัตราเดือนละ 57,273 บาท หรือปีละ 687,276 บาท รวมระยะเวลา 5 ปี เป็นเงิน 3,436 ล้านบาท ส่วนอาคารบ้านขุนพิทักษ์ บริหาร (บ้านเขียว) อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่จะนำมาประมูลพัฒนาต่อไป

โดยโครงการพัฒนาอาคารราชพัสดุทรงคุณค่า นอกจากจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งเสริมการอนุรักษ์อาคารที่ยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมให้คงอยู่สืบไปด้วย หากปล่อยรกร้างไว้เช่นเดิม มีแต่จะทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้น จึงควรอนุรักษ์อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรม และเพื่อพัฒนาที่ดินราชพัสดุให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งสร้างรายได้ให้รัฐ สร้างงานให้คนไทยสืบต่อไปได้.

ดวงพร อุดมทิพย์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ