5 เรื่องเร่งด่วน ต้องทำ! เอกชน ฝากการบ้าน นายกฯ คนใหม่ หนุนสินค้า Made in Thailand-ปรับลดค่า Ft

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

5 เรื่องเร่งด่วน ต้องทำ! เอกชน ฝากการบ้าน นายกฯ คนใหม่ หนุนสินค้า Made in Thailand-ปรับลดค่า Ft

Date Time: 23 ส.ค. 2567 18:15 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • 5 เรื่องเร่งด่วน ต้องทำ! เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เอกชน ฝากการบ้าน นายกฯ คนใหม่ ปลุกหนุนสินค้า Made in Thailand ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ซื้อลดหย่อนได้ 2 เท่า เรียกร้องคงค่าไฟ หรือปรับลดค่า Ft ขึ้นค่าแรงตามทักษะฝีมือ และลุยสกัดสินค้านำเข้าไร้คุณภาพ ประคอง SMEs ไทยให้อยู่รอด ด้วยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ

Latest


ถือเป็นการขยับเชิงรุก เข้ารับฟังข้อเสนอแนะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ “แพทองธาร ชินวัตร” อย่างน่าจับตามอง หลังเอกชนสะท้อนอย่างต่อเนื่องว่า เศรษฐกิจไทย ห้วงเวลานี้น่าเป็นห่วง และ GDP เติบโตต่ำ จากหลายสาเหตุด้วยกัน 

จึงจำเป็นต้องอาศัยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อให้เอกชน เดินหน้าเป็นฟันเฟื่องปลุกเศรษฐกิจต่อได้ โดยวันนี้ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. หลังเข้าพบนายกฯ ณ ตึกชินวัตร 3 เปิดเผยว่า สำหรับ 5 ข้อเสนอเร่งด่วนที่ฝากให้เป็นการบ้านรัฐบาล และทีมเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปด้วยกัน ประกอบไปด้วย

1.ต้องมีการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ จากสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพ และการทุ่มตลาด 

  • เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีมาตรฐาน ที่มีการนำเข้าผ่านด่านศุลกากร มีการทดสอบมาตรฐานก่อนนำเข้า เพิ่มจำนวนเครื่องเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์ ป้องกันการสำแดงเท็จ รวมทั้งตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาด 
  • บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางการค้าอย่างเคร่งครัด รวมถึงการดำเนินการกับผู้กระทำผิดที่นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาด 
  • ออกมาตรการกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ 
  • เชื่อมโยงระบบการบริการข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ หรือ National Single Window (NSW) เพื่อตรวจสอบและอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาต 

2.ต้องมีการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT)

  • เพิ่มแต้มต่อการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า MiT ผ่านวิธี e-bidding จากเดิม 5% เป็น 10% เป็นเวลา 2 ปี เพื่อสร้างกระแสเงินหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการไทย 
  • กำหนดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แทนการอ้างอิงมาตรฐานต่างประเทศ เพื่อให้หน่วยงานมีความมั่นใจในสินค้า 
  • ออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับภาคเอกชนที่จัดซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรอง MiT ให้สามารถนำยอดซื้อมาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า 
  • ออกมาตรการช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกที่ได้รับการรับรอง MiT ไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ค่าระวางเรือ ค่าขนส่งในประเทศ เป็นต้น

3.ควรมีการลดต้นทุนด้านการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินงานด้านต้นทุนพลังงาน ได้แก่ 

  • คงอัตราค่าไฟฟ้าโดยไม่ปรับเพิ่มขึ้น หรือปรับลดค่า Ft เพื่อรักษาต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในสภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ 
  • บริหารจัดการความจุสำรอง (Reserve Capacity) ให้อยู่ในระดับไม่สูงเกินไป โดยพิจารณาการเจรจาเลื่อนโรงไฟฟ้าที่จะเกิดใหม่ให้สอดคล้องระหว่างกำลังความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังการผลิต 
  • พิจารณาผลดี-ผลเสียของการเกลี่ยค่าใช้จ่ายไปในอนาคต โดยขยายสัญญาการผลิตของโรงไฟฟ้า เพื่อลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า 
  • ลดเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคอุตสาหกรรม 
  • เร่งพิจารณากระบวนการจัดสรรเงินกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs

เสนอปรับขึ้นค่าแรง ตามทักษะฝีมือ

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังเสนอว่า ควรมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีคณะอนุกรรมการค่าจ้างไตรภาคีจังหวัดพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด เสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน

  • ส่งเสริมการปรับอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน 
  • ผลักดันให้ผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ ให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงหลักในการดำเนินการ 
  • พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้ง Upskill/ Reskill/ Multi-Skill/ Future Skill ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน สอดรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

4.ควรมีการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME ผ่านแนวทางต่างๆ ดังนี้

ออกมาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SME ไทย การผ่อนปรนคุณสมบัติของผู้กู้ ณ เงื่อนไขที่ SME กู้เงินไม่ได้ เช่น การดูประวัติ NPL ไม่มีหลักทรัพย์ เป็นสาขาธุรกิจที่มีความเสี่ยงหรืออื่นๆ ซึ่งธนาคารกำหนดไว้ และเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อของ SME มาโดยตลอด

  • จัดสรรวงเงินเฉพาะเพื่อช่วยเหลือ SME ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประคองธุรกิจ พร้อมให้คำปรึกษาในการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปด้วย
  • ผ่อนปรนเงื่อนไขการพิจารณาปล่อยสินเชื่อกับ SME สาหรับลูกค้าที่ติดเครดิตบูโรเกิน 1 ปี โดยไม่นำเอาประวัติการติดเครดิตบูโรในอดีตมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ หาก ณ วันที่ยื่นขอสินเชื่อผู้ประกอบการไม่เป็น NPLs แล้ว
  • ออกมาตรการสินเชื่อพิเศษ เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริม SME โดยอัตราดอกเบี้ย 2-3% คงที่เป็นเวลา 3 ปี โดยขยายครอบคลุมทั้งการลงทุนและเงินหมุนเวียนในกิจการ
  • ขอให้สถาบันการเงินเปิดให้มีการปรับเพิ่มระยะเวลาการผ่อนเป็นทางเลือก รวมทั้งปรับลดค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง
  • ขอให้สถาบันการเงินและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันอย่างเป็นธรรม 

5.ควรมีการส่งเสริมการค้าชายแดน และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ 

  • เจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพิจารณายกระดับจุดผ่อนปรนพิเศษทางการค้าและจุดผ่อนปรนทางการค้า ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร 
  • นำเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมไทย-ลาว เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการขนส่งสินค้าผ่านด่านท่าบก ท่านาแล้ง สปป.ลาว เพื่อแก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านไปยังท่าบกของ สปป.ลาว 
  • แก้ไขข้อจำกัด อุปสรรคนโยบายรัฐและพัฒนาโครงข่ายระบบรางภายในประเทศ
  • จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนาส่งเสริมโครงข่ายเชื่อมโยงระบบรางของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค 
  • ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางอากาศ

ทั้งนี้ มติที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอ ส.อ.ท. โดยหลังจากจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะมอบหมายเจ้าภาพในการขับเคลื่อนข้อเสนอร่วมกัน รวมทั้งจะรื้อฟื้นการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเป็นรายอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตและเห็นผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์