เปิดเหตุผล “แบงก์ชาติ” ตรึงดอกเบี้ย มองเศรษฐกิจโตตามคาด ปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม แต่ยังไม่พอให้ลด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

    เปิดเหตุผล “แบงก์ชาติ” ตรึงดอกเบี้ย มองเศรษฐกิจโตตามคาด ปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม แต่ยังไม่พอให้ลด

    Date Time: 21 ส.ค. 2567 19:41 น.

    Video

    บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

    Summary

    • กนง.ยืนหยัดคงดอกเบี้ยที่ 2.50% มองเศรษฐกิจฟื้นตัวตามคาด แม้ช่วงครึ่งหลังปี 2567 แรงส่งชะลอลงจากการบริโภค จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง การลงทุนเอกชน-การลงทุนภาครัฐ-ภาวะการเงิน ฉุดเศรษฐกิจ กดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

    Latest


    วันนี้ (21 ส.ค. 2567) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

    ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังเหมาะสมกับระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เข้าสู่ศักยภาพ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้า และภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

    ทั้งนี้ ธปท. ยังคงคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ไว้ที่ 2.6% แต่ในระยะต่อไปการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอลง หลังจากที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้แรงส่งทางเศรษฐกิจแผ่วลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยแรงส่งทางเศรษฐกิจรายไตรมาสอยู่ที่ 0.7% ลดลงจากระดับ 1.2% ในช่วงครึ่งปีแรก

    เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยง กดดัน กนง. ลดดอกเบี้ย


    แม้ ธปท. จะคงแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับการประชุม กนง. ครั้งก่อน แต่มองว่าความเสี่ยงขาลง (Downside risk) เพิ่มขึ้น หลักๆ มาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลง ทำให้แรงส่งทางเศรษฐกิจลดลง ซึ่งการชะลอลงของเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ ธปท. ประเมินไว้แล้ว แต่มี 3 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจุดยืนนโยบายการเงิน ได้แก่


    1. การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส โดยหดตัวมากถึง 6.8% ชั่วคราว ในไตรมาสที่ 2/2567 ธปท. กำลังติดตามว่าการลดลงเป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราว หรือเป็นเพราะปัจจัยอื่นที่มีนัยสำคัญ
    2. การลงทุนภาครัฐที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ต้องจับตาดู แม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่อาจจะต้องรอดูในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้
    3. ภาวะการเงิน ในเรื่องของพัฒนาการคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อหมดลง ทำให้ลูกหนี้ NPL เพิ่มขึ้น กดดันให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ในภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจส่งสัญญาณบวก

    เงินบาทแข็งค่า ไม่กระทบการส่งออก

    สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ท่ามกลางเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น นายปิติ กล่าวว่า เงินบาทยังคงผันผวน ทิศทางเดียวกับตั้งแต่ต้นปี โดยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาค ทั้งนี้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากตลาดปรับมุมมองว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น และมากกว่าที่คาดไว้ รวมถึงปัจจัยเฉพาะในประเทศ อย่างราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ไทยส่งออกทองคำจำนวนมาก ประกอบกับความชัดเจนทางการเมือง หลังจาก แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

    อย่างไรก็ตามเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบจำกัดต่อการจ้างงาน ความสามารถในการขายสินค้า เนื่องจากผู้ส่งออกส่วนใหญ่ตั้งราคาขายสินค้าในสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งมูลค่าค่อนข้างคงที่ จึงไม่กระทบกับอุปสงค์ต่างชาติที่สั่งซื้อสินค้าไทย เช่นเดียวกับผู้นำเข้า ดังนั้นปริมาณการส่งออกหรือนำเข้าจึงไม่ได้รับผลกระทบมากในภาพรวม.

    ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
    https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
    ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


    Author

    กองบรรณาธิการ

    กองบรรณาธิการ
    กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์