TEMU ส่งสินค้า โรงงานจีนบุกไทย ผู้ประกอบการ-เศรษฐกิจไทยจ่อเจ๊ง

Money

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

TEMU ส่งสินค้า โรงงานจีนบุกไทย ผู้ประกอบการ-เศรษฐกิจไทยจ่อเจ๊ง

Date Time: 6 ส.ค. 2567 05:39 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้คนไทยยังมีกำลังซื้อ นโยบายกระตุ้นบริโภค ไม่ช่วยฟื้นภาคการผลิต

บรรดานักช็อปออนไลน์กำลังเพลิดเพลินกับการจิ้มซื้อสินค้าใน Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนเจ้าใหม่ที่เพิ่งมาเปิดตัวในไทย สินค้าราคาถูกจนน่าตะลึง แถมมีโปรโมชันเปิดตัวเรียกลูกค้า ด้วยการลดราคาสูงสุด 90% จัดส่งฟรี และคืนสินค้าฟรีภายในระยะเวลาที่กำหนด สะกดนักช็อปไทยจนเคลิ้ม

Temu เป็นแพลตฟอร์มของบริษัทจีน PDD Holdings Inc. เจ้าของเดียวกับ Pinduoduo อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในจีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของ Alibaba และ JD.com ที่ใช้กลยุทธ์โซเชียลคอมเมิร์ซ ดึงเพื่อนฝูงครอบครัวมาใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์ม มีการจัดกิจกรรมหลากหลายเช่น ไลฟ์ขายสินค้า แจกรางวัล ประกอบกับการใช้คอนเซปต์ Group Buying หรือ การรวมคำสั่งซื้อของผู้ซื้อแล้วส่งไปยังผู้ผลิตโดยตรง แม้จะได้สินค้าล่าช้าไปบ้าง แต่ได้ราคาถูกเหมือนราคาขายส่ง

กลยุทธ์ของ Temu ก็เช่นเดียวกัน ให้ผู้ซื้อซื้อตรงกับโรงงานผลิต ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ไม่ต้องลงทุนคลังสินค้า ของออกจากโรงงานจีนส่งตรงถึงผู้บริโภค ทำให้ได้ราคาถูกกว่าปกติ 50–80% โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ต้องโชว์แบรนด์ ไม่ต้องเสียค่าการตลาด นอกจากนี้สินค้าใน Temu ยังมีครอบคลุมทุกประเภททั้งเสื้อผ้า แฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น ของอุปโภคบริโภคต่างๆ

สโลแกนของ Temu คือ Shop like a Billionaire หมายความว่าสินค้าที่นี่ราคาโคตรถูก จนสามารถซื้อทุกอย่างได้เฉกเช่นคุณเป็นมหาเศรษฐี

การรุกเข้ามาบุกตลาดในไทยครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเจ้าเดิมทั้ง Shopee Lazada และ TikTok Shop เชื่อกันว่านับจากนี้จะเกิดสงครามราคาครั้งใหญ่

Temu เปิดตัวครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2022 ใช้เวลาไม่นานก็มี ผู้ใช้งานชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านราย แม้มีเสียงวิจารณ์เรื่อง คุณภาพ สินค้า และ โฆษณาเกินจริง แต่ด้วยราคาที่ถูกแสนถูก ทำให้ช่วงชิงส่วนแบ่ง การตลาดไปได้อย่างมาก Amazon และ eBay ยังสะเทือน ต้องปรับกลยุทธ์สู้ ตอนนี้ Temu เปิดตลาดไปแล้วเกือบ 50 ประเทศ ซึ่งทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างหามาตรการตอบโต้ไม่ให้สินค้าจีนหลั่งไหลเข้าไปยึดตลาด

ไทยก็กำลังจะเจอปัญหาแบบเดียวกัน เราพยายามเก็บภาษีจากร้านค้าใน Shopee Lazada TikTok shop ได้ออกกฎหมาย เก็บภาษีแวต 7% สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จากเดิมที่เคยยกเว้นภาษีให้ และออกกฎหมายบังคับให้ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องส่งข้อมูลรายได้เจ้าของร้านให้กรมสรรพากรทราบ ทำให้ร้านค้าต่างๆหลบเลี่ยงภาษีได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางกฎหมายเหล่านี้ทำอะไรร้านค้าใน Temu ไม่ได้ เพราะผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตในจีนโดยตรง แล้วรัฐบาลไทยจะเก็บภาษีจากใคร

ลำพังยังไม่มี Temu เข้ามา ผู้ประกอบการไทยก็เจ๊งไปหลายราย เพราะต้นทุนราคาสู้โรงงานจีนไม่ได้ โรงงานไทยทยอยปิดเป็นดอกเห็ด คนตกงานจำนวนมาก ตอนนี้ Temu บุกมาแล้วปัญหาจะยิ่งลุกลามหนัก คนไทยกดสั่งซื้อสินค้าโดยตรงจากโรงงานจีน เม็ดเงินที่ใช้จ่ายก็ถูกส่งไปจีน ไม่ได้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทย

อีกประเด็นที่อยากฝากไว้เป็นข้อคิดคือเรื่อง คุณภาพสินค้า ต้องชื่นชม คุณพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งได้เร่งออก มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ควบคุมผลิตภัณฑ์หลายประเภทและหลายรายการ เฉพาะ 7 เดือนของปี 2567 ออกมาตรฐานมอก.มาแล้ว 1,350 รายการ เพื่อปกป้องคนไทยให้ปลอดภัยจากสินค้าด้อยคุณภาพ

ไม่ใช่เรื่องผิดที่อยากซื้อของถูก แต่คุณภาพต้องได้ สิ่งสำคัญถ้าคนไทยไม่ช่วยกัน แล้วใครจะช่วยเรา หากผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างตกงาน เม็ดเงินไม่หมุน เศรษฐกิจพังครืน แม้ของถูกแค่ไหนก็ไม่มีเงินซื้อ

วันนี้รัฐบาลควรคิดแผนรับมือได้แล้ว ต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุม และเป็นผู้นำรณรงค์ไทยใช้ของไทย เบรกสินค้าจีนยึดตลาด ก่อนที่ผู้ประกอบการไทยจะล้มหายตายจากไปมากกว่านี้.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ