Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR
InvestmentPersonal FinanceEconomicsBusiness & MarketingTech & InnovationSustainabilityExperts PoolVideosPR News
ประเทศไทย กับทศวรรษที่สูญหาย เมื่อเศรษฐกิจ-การเมือง-ตลาดทุน ยังวังวน อยู่กับการ “ทุจริตคอร์รัปชัน”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ประเทศไทย กับทศวรรษที่สูญหาย เมื่อเศรษฐกิจ-การเมือง-ตลาดทุน ยังวังวน อยู่กับการ “ทุจริตคอร์รัปชัน”

Date Time: 15 ก.ค. 2567 16:14 น.

Video

เจาะลึกครอบครัว ‘เตชะวิบูลย์’ หัวแถวธุรกิจกระดาษ-บรรจุภัณฑ์ เบอร์ 1 กล่องทุเรียน | On The Rise

Summary

  • ประเทศไทย จะอยู่อย่างไร? กับทศวรรษที่สูญหาย เมื่อเศรษฐกิจ-การเมือง-ตลาดทุน ยังวังวน อยู่กับการทุจริตคอร์รัปชัน รั้งอันดับ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก กับดัก ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพิ่มความเหลื่อมล้ำ

36 จาก 100 คะแนนเต็ม คือ ดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ TI สำรวจและเปิดเผยออกมาล่าสุด เมื่อปี 2565 สะท้อนภาพ ประเทศไทยตกขอบความโปร่งใสระดับโลก 

เพราะหากจัดอันดับ 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทย หล่นมาอยู่ที่อันดับ 101 แม้จะเป็นทิศทางที่ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า เพราะTI ชี้ว่า พฤติกรรมการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ ความโปร่งใสในการบริหารเงินงบประมาณ การตรวจสอบ และลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริตของประเทศไทย ยังไม่ถูกแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ให้เห็นผลชัดเจน 

ตัดภาพมาวันนี้ คำว่า “ธรรมาภิบาล” ถูกกระตุกย้ำ ด้วยหลายเหตุการณ์ทุจริตคอร์รัปชัน ในสังคมไทย ตั้งแต่ ข่าวรวมตัวขับไล่ ผอ.โรงเรียนดังหาดใหญ่ โกงค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน, สว.ถูกตรวจสอบ ใช้วุฒิการศึกษาปลอม เรื่อยมาจนถึง ก.ล.ต.กล่าวโทษ ผู้บริหาร EA ในตลาดหุ้นไทย เหตุ ทุจริต โกงเงิน 3,000 ล้านบาท ซ้ำเติม วิกฤติตลาดทุนไทย 

ทำให้ หุ้น EA ที่ครั้งหนึ่ง เคยติดลิสต์ หุ้นที่มีมูลค่าสูงสุด สู่ จุดตกต่ำที่สุด ขณะ “สมโภชน์ อาหุนัย” จากเศรษฐีหุ้นไทย สู่ ผู้ถูกกล่าวโทษ 

ดัชนีทุจริตของไทย 20 ปี ไม่เคยไปไหน 

อ้างอิงข้อมูลวิจัย จาก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ว่า นับเป็นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของไทย ไม่เคยขยับไปไหน อยู่ในช่วง 32-38 คะแนน

โดย 0 และ 100 หมายถึงระดับการคอร์รัปชันที่สูงและต่ำที่สุด ตามลำดับ ซึ่งประเทศไทย เกือบจะเป็นค่าคงที่ และค่อนไปทางระดับการคอร์รัปชันสูง อีกทั้ง มีแนวโน้มแย่ลงในระยะยาว แม้ว่าการจัดอันดับในแต่ละปี อาจจะมีจำนวนประเทศไม่เท่ากัน แต่การเพิ่มจำนวนประเทศเข้ามาและทำให้อันดับของประเทศไทยลดลง ก็ไม่ใช่เรื่องดี 

กล่าวคือ “ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยยังคงเหมือนเดิมมาตลอด 20 ปี แต่ประเทศอื่นในโลกแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ดีและเร็วกว่าจนแซงหน้าเราไป” 

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ จากอันดับที่ไม่ขยับหนีไปไหน คือ ผลกระทบ ต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของ “นักลงทุนต่างชาติ” โดยเฉพาะเมื่ออันดับและคะแนนของการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันของหลายประเทศดีขึ้น ก็ยิ่งซ้ำเติมให้แรงดึงดูดในการลงทุนลดลงไปอีก

อีกด้าน ระดับการคอร์รัปชันของไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูงและไม่มีการเปลี่ยนแปลงมายาวนาน ย่อมแสดงให้เห็นว่า รูปแบบการลงทุนของนักลงทุนในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเช่นกัน สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นของกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มกับภาครัฐยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลมากี่ครั้ง

เช่นเดียวกับ ความร่ำรวยของกลุ่มธุรกิจไม่กี่กลุ่มจะยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีและขยายตลาดไปต่างประเทศ และซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งเลวร้ายลง

จนกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า ทั้งๆ ที่ประเทศไทย มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ทั้งจากทรัพยากรมนุษย์ ทำเลที่ตั้ง และโครงสร้างพื้นฐาน แต่หากพิจารณาในระยะยาว จะเห็นว่าความสามารถในการใช้ศักยภาพเหล่านี้กลับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ในปัจจุบันนี้ล้วนมาจากการกัดกร่อนของคอร์รัปชัน ที่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมาเป็นระยะยาวนาน

ทุจริตคอร์รัปชัน กัดกร่อนสังคมไทย เศรษฐกิจสูญหลักแสนล้าน 

อ่านมาถึงตรงนี้ จะพบว่า ปัญหาคอร์รัปชันของไทย เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีข้อมูลระบุว่า ไทยต้องสูญเสียเม็ดเงิน จากเรื่องดังกล่าว 3-4 แสนล้านบาทต่อปี 

ขณะเดียวกัน ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ทั้งรายได้ภาครัฐที่ลดลง การใช้จ่ายภาครัฐที่ด้อยประสิทธิภาพ การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนที่ทำได้ยากขึ้น 

ด้าน SCB EIC (ธนาคารไทยพาณิชย์) ระบุว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ยังเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจและการลงทุน เพราะมักก่อให้เกิดการผูกขาดผ่านการกีดกันผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาด และทำให้ภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะการสร้าง connection ผ่านการคอร์รัปชันทำได้ง่ายกว่า 

โดยผลสำรวจของ World Economic Forum พบว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็น 1 ใน 5 อุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศ ASEAN รวมถึงไทย ทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นและบั่นทอนความเชื่อมั่นในการลงทุน

ทั้งนี้ แนวทางการลดปัญหาคอร์รัปชันนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับธรรมาภิบาลภาครัฐ การเพิ่มความโปร่งใสด้านข้อมูล ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น เรื่อยไปจนถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หากแต่ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนเดียว แต่ต้องร่วมมือกับทุกฝ่าย.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์