2 กรกฎาคม 2567 เป็นวันครบรอบ 27 ปี ของการประกาศลอยตัว “ค่าเงินบาท” วิกฤติต้มยำกุ้ง ฝันร้ายของเศรษฐกิจไทย
ภาพธุรกิจปิดตัว คนตกงาน ล้มละลาย ถูกลดเงินเดือน บ้านถูกยึด รถถูกขาย ยังอยู่ในความทรงจำของคนไทยหลายล้านคน เมื่อนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2540 บทเรียนราคาแพงกับการผูกค่าเงินกับดอลลาร์ฯ และปัญหาสะสมจากการลงทุน การใช้จ่ายเกินตัวของภาคครัวเรือน จนท้ายที่สุดรัฐบาลต้องกู้เงินกับ IMF มาแก้ปัญหา
ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทความ : ครบรอบ 27 ปี ลอยตัวค่าเงินบาท-วิกฤตต้มยำกุ้ง และ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย ย้อนทบทวนจุดอ่อนโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยในเวลานั้น และเทียบกับบริบทปัจจุบัน เพื่อไม่เห็นเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก จากสถานการณ์อ่อนไหว ณ ขณะนี้ ที่เรียกว่ารอบนี้มีความซับซ้อนและมีความต่างออกไปจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง และถือเป็นโจทย์ใหญ่ทั้งระยะกลางและยาว
ทั้งนี้ วิกฤติเศรษฐกิจการเงินของไทยในปี 2540 ปะทุขึ้นจากความไม่สมดุลหลายด้าน โดยภาคเอกชนและสถาบันการเงินขาดการตระหนักถึงความเสี่ยง มีการใช้จ่ายและกู้ยืมเกินตัวเปิดความเสี่ยงด้าน Maturity and Currency Mismatch มีการก่อหนี้ต่างประเทศสูง และมีการเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ เศรษฐกิจภาพรวมยังมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังเป็นเวลานานตลอดช่วงปี 2530-2540 แต่อัตราแลกเปลี่ยนตรึงไว้กับตะกร้าเงิน ซึ่งทำให้ถูกโจมตีค่าเงิน และทางการไทยจำเป็นต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท โดยในเวลานั้นเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิลดลงอย่างมาก
โดย วิกฤติเศรษฐกิจการเงินในปี 2540 ยังมีต้นตอมาจากความไม่สมดุลภายในและการผูกค่าเงินกับดอลลาร์ อย่างไรก็ดี การปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในครั้งนั้นก็ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย เพราะทำให้เงินบาทสามารถเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
เทียบกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกติดกับตะกร้าเงินที่นอกจากอัตราแลกเปลี่ยนจะขาดความยืดหยุ่นแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทย และเป็นชนวนของการถูกโจมตีค่าเงินในช่วงเวลานั้น
ย้อนกลับมามองสถานการณ์ในปี 2567 แม้ยังคงเห็นการไหลออกของกระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย แต่ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2567 ก็มีแนวโน้มชะลอลง จากที่อยู่สูงถึง 9.0% ในปี 2566 มาอยู่ที่ 6.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และต่ำกว่าค่าความผันผวนในช่วง 1 ปีหลังลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งอยู่ที่ 34.5% ค่อนข้างมาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังให้มุมมองเพิ่มเติมต่อกรณีมีการเทียบเคียงสถานการณ์ เศรษฐกิจในปัจจุบันว่า อาจซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง ว่า ในมิติเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจ และมาตรวัดเสถียรภาพต่างประเทศของไทยในปัจจุบันดีขึ้นกว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจการเงินปี 2540 อย่างชัดเจน แม้จะอยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19
โดยมีจุดที่แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติปี 2540 คือ ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันมีความเข้มแข็งมากกว่ามาก โดยระดับเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ 21 มิ.ย. 2567 อยู่ที่ประมาณ 2.53 แสนดอลลาร์ฯ
ซึ่งสามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น การนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรได้เต็มจำนวน ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.6% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2566 และทางการก็ได้มีมาตรการดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสะท้อนว่ามีการเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติเพื่อป้องกันการเดินซ้ำรอยเดิมของระบบเศรษฐกิจและการเงินไทย
อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับว่าโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้นมีทั้งประเด็นเฉพาะหน้า โดยเฉพาะความคาดหวังของนักลงทุนต่อสถานการณ์และนโยบายเศรษฐกิจไทย และโจทย์ที่เกิดจากปัจจัยที่มีความไม่แน่นอน และโจทย์เชิงโครงสร้าง ที่ยังต้องดูแลแก้ไข เช่น
ซึ่งอาจนำไปสู่การสะสมปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรร่วมกันช่วยเสริมสร้างสมดุลใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง ต่อระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต.
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney