Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR
InvestmentPersonal FinanceEconomicsBusiness & MarketingTech & InnovationSustainabilityExperts PoolVideosPR News
คนไทย 17.4 ล้านครัวเรือน มีค่าใช้จ่าย+หนี้สินรุงรัง เกิน 100% ของรายได้ ไม่ใช่คนยากจน รัฐเลยไม่มอง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทย 17.4 ล้านครัวเรือน มีค่าใช้จ่าย+หนี้สินรุงรัง เกิน 100% ของรายได้ ไม่ใช่คนยากจน รัฐเลยไม่มอง

Date Time: 28 มิ.ย. 2567 14:43 น.

Video

เจาะลึกครอบครัว ‘เตชะวิบูลย์’ หัวแถวธุรกิจกระดาษ-บรรจุภัณฑ์ เบอร์ 1 กล่องทุเรียน | On The Rise

Summary

  • วิจัย SCB EIC เผย ประเทศไทย มีกลุ่ม ALICE  (ยอดรายจ่าย+หนี้ เกิน 100% ของรายได้) สูงถึง 17.4 ล้านครัวเรือน รายได้ต่อปีมากกว่า "เส้นความยากจน" เลยไม่ได้สิทธิรับความช่วยเหลือจากรัฐ แต่ เปราะบาง เพราะ ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อ ส่งผลไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

Latest


ALICE หรือ Asset Limited, Income Constrained, Employed คือ นิยามศัพท์ที่องค์กรในสหรัฐอเมริกา ใช้เรียกแทน ครัวเรือน ที่มีรายได้เกิน “เส้นความยากจน” และเกินเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่รายได้กลับไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 

ทำให้ไม่สามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน ขณะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (เช่น ค่ารักษาพยาบาล) ที่จำเป็นต้องใช้เงิน อาจต้องเบียดเบียนเงินสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัย เป็นต้น 

คนไทยกว่า 72% เผชิญ ภาวะค่าใช้จ่าย+หนี้สิน เกินรายได้ 

สำหรับกลุ่ม ALICE ในประเทศไทยนั้น ข้อมูลวิจัยล่าสุด ของ SCB EIC (ธนาคารไทยพาณิชย์) เผยว่า หากเราเทียบกลุ่ม ALICE ในเศรษฐกิจไทยแล้ว จะเทียบเคียงได้กับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาท แต่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เมื่อรวมภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่อเดือนของครัวเรือนแล้ว มีสัดส่วนมากกว่ารายได้ของครัวเรือน 

โดยการวิเคราะห์ จะพบว่า ปัจจุบัน กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 50,000 บาท ต่างมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายและค่าใช้จ่ายรวมกันมากกว่ารายได้ของครัวเรือน (ค่าใช้จ่ายรวมกับหนี้สินเกิน 100% ของรายได้ครัวเรือน) 

ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ของครัวเรือนต่อเดือนมากกว่า 50,000 บาท เมื่อรวมภาระหนี้และค่าใช้จ่ายต่อเดือนแล้ว ยังมีส่วนที่เหลือในการออม 

จากข้อมูลของ SCB EIC และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบว่า กลุ่ม ALICE มีสัดส่วนประมาณ 72.8% ของครัวเรือนไทยทั้งหมด หรือประมาณ 17.4 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ 

รัฐอุ้ม เฉพาะกลุ่มคนยากจน ปล่อย กลุ่ม ALICE ไว้กลางทาง

ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนยากจนมีรายได้ในครัวเรือนต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ประมาณ 14.7% หรือราว 3.5 ล้านครัวเรือน ในปัจจุบันการช่วยเหลือภาครัฐที่มอบให้กับกลุ่มคนจนจะอยู่ในรูปแบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนจนที่มีรายได้ครัวเรือนต่อปีไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน 

โดยผู้ถือบัตรคนจนหรือบัตรประชารัฐจะได้รับเงินช่วยเหลือ อาทิ วงเงินซื้อสินค้า 300 บาทต่อคนต่อเดือน วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน วงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่ม ALICE ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการเหล่านี้ 

ทั้งนี้ กลุ่ม ALICE ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อครัวเรือนสูงเกินที่จะรับสวัสดิการจากภาครัฐ ขณะเดียวกัน รายได้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้บางครั้งคนกลุ่มนี้ต้องละทิ้งการใช้จ่ายในบางอย่าง เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเป็นกลุ่มที่เปราะบางเมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 

จึงสรุปได้ว่า เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้ออย่างมาก ส่งผลต่อ พฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการ ที่มักจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาเป็นหลัก โดยมักเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีสินค้าหลากหลายและมีราคาย่อมเยากว่าร้านค้าอื่นๆ เป็นต้น.

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์