นายกฯเศรษฐา ทวีสิน แถลงมติ ครม.ในวันอังคารว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ กระทรวงพลังงาน เสนอ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนที่จะสิ้นสุดลงใน 3 มาตรการคือ ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 33 บาท ตรึงราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม และ ลดค่าไฟฟ้าให้อยู่ที่ 19.05 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยให้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันไปก่อน ถ้าหากไม่พอก็ให้นำงบกลางออกมาใช้
เป็นการต่ออายุการตรึงราคาพลังงานครั้งที่เท่าไหร่แล้วจำไม่ได้ และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะตรึงราคาพลังงานต่อไปอีกนานเท่าไหร่ แต่ "โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของฟรี" ราคาพลังงานที่รัฐบาลประกาศตรึงไว้ รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีไปจ่ายให้กับบริษัทน้ำมันและบริษัทไฟฟ้าในราคาปกติแทนประชาชน วันนี้กองทุนน้ำมันติดลบแสนกว่าล้านบาทแล้ว หากไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้ นายกฯให้เอางบกลางไปชดเชยแทน แล้วฐานะการคลังของประเทศชาติในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ด้านหนึ่ง รัฐบาลเอาเงินภาษีประชาชนไปตรึงราคาพลังงาน อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ประกาศ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ” มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ สมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นกว่า 50 สมาคม ที่คัดคานไม่เห็นด้วยกับ “นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ” ของ พรรคเพื่อไทย แต่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2567
แถลงการณ์ของ 50 กว่าสมาคมการค้าเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เป็นการขึ้นที่เกินกว่าพื้นฐานความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ละจังหวัด แต่ละประเภทธุรกิจ มีความพร้อมของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน การขึ้นค่าจ้างที่สูงเกินจริง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต อาจส่งผลให้มีการหยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ ปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด
การคัดค้านของ 50 สมาคมการค้า ถือว่ามีเหตุผลรับฟังได้ ค่าแรง ขั้นต่ำเท่ากันทุกพื้นที่ทั่วประเทศเป็นไปไม่ได้ แม้แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทนำร่องในโรงแรมพื้นที่ท่องเที่ยวเข้มข้น ก็ยังมีการจำแนกเป็น โรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปเท่านั้น รวมทั้งโรงแรมในกรุงเทพฯด้วย โรงแรมระดับ 3 ดาว ลงมามีรายได้ไม่เพียงพอจ่ายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนธุรกิจในแต่ละจังหวัดก็เช่นเดียวกัน จังหวัดที่รวยหรือรวยปานกลางก็สามารถรับได้ แต่จังหวัดที่จนหรือจนที่สุดในประเทศ จะให้จ่ายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาทเท่ากรุงเทพฯ มันเป็นไปไม่ได้แน่นอน
นโยบายการเมืองที่มุ่งหาเสียง โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง ของ พรรคเพื่อไทย จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในแง่ลบ มากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ
คุณวรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมฯ ได้เผยแพร่ตัวเลข “เส้นความยากจน” ของคนไทยปลายปีที่แล้วพบว่า เส้นความยากจนของคนไทยในปี 2565 อยู่ที่ 2,997 บาทต่อเดือน เฉลี่ย 30 วัน เท่ากับมีรายได้วันละ 99.9 บาท และ 5 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด คือ แม่ฮ่องสอน (ติดอันดับจนที่สุดมา 19 ปีซ้อน) ปัตตานี ตาก นราธิวาส กาฬสินธุ์ เมื่อรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5 จังหวัดที่จนที่สุดนี้เป็นวันละ 400 บาทเท่ากรุงเทพฯ แน่นอนที่สุด คนงานใน 5 จังหวัดนี้เหมือนถูกหวย แต่ ธุรกิจเอสเอ็มอีใน 5 จังหวัดนี้จะอยู่ต่อไปอย่างไร สุดท้ายก็ต้องล้มหายตายจากไป และคนงานก็ต้องตกงานไป.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม