นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขต กทม. และปริมณฑล ว่า ในปัจจุบันรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมได้ขยายโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขต กทม. และปริมณฑล (รถไฟฟ้า) (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 1 ครอบคลุมระยะทางเปิดให้บริการรวมกว่า 513 กม. ในขณะเดียวกันเพื่อให้การเดินทางของประชาชนสะดวกสบาย และไม่มีค่าครองชีพที่สูงจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า รัฐบาลจึงเดินหน้าในการผลักดันนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ให้สัมฤทธิผลโดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 68 ประชาชนที่เดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสายทางจะเสียค่าโดยสารเพียง 20 บาทตลอดสายเท่านั้น
และเมื่อมีการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าระยะที่ 1 ต่อเนื่องและเกือบครบ หลายคนสงสัยว่ารัฐบาลมีแผนที่จะขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ในระยะที่ 2 เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นหรือไม่ ในเรื่องนี้ทางกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) อยู่ระหว่างดําเนินโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจําลอง และคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง ในการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-Map 2) อยู่ หากขั้นตอนดำเนินการเรียบร้อยกระทรวงคมนาคมก็พร้อมที่จะเดินหน้าต่อทันที
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายทางในรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกสี ที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมประกาศไว้นั้น ในทางปฏิบัติจะทำได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 68 อย่างแน่นอน และการที่จะนำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติได้นั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ในขั้นตอนของการเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ให้เข้า ครม. และ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้กฎหมายประกาศออกมา ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการจัดตั้ง กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นในส่วนของแผนการขยายโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขต กทม. และปริมณฑล (รถไฟฟ้า) ระยะที่ 2 หรือ M-Map 2 นั้น ทางกรมการขนส่งทางรางได้มีผลการศึกษาในเบื้องต้นแล้ว โดยได้จัดลําดับความสำคัญของแผนการพัฒนา M-Map 2 ว่ามีความจำเป็นในการสร้างถึง 20 เส้นทาง มีสถานีรวมทั้งหมด 167 สถานี และมีระยะทางรวม 270.35 กิโลเมตร
ทั้งนี้ใน 20 เส้นทาง จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.เส้นทางที่มีความจำเป็นและมีความพร้อม ดำเนินการได้ทันที จํานวน 4 เส้นทาง 31 สถานี และระยะทางรวม 51.40 กิโลเมตร ดังนี้ 1.1 รถไฟฟ้า สายสีแดงรังสิต-ธรรมศาสตร์ 1.2 รถไฟฟ้า สายสีแดงตลิ่งชัน-ศาลายา 1.3 รถไฟฟ้า สายสีแดงตลิ่งชัน-ศิริราช และ 1.4 สายสีน้ำตาล แคราย-บึงกุ่ม ซึ่งเส้นทางนี้ทาง รฟม. อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน
2.เส้นทางที่มีความจำเป็น แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน ซึ่งเส้นทางกลุ่มนี้คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 72 มี 6 เส้นทางรวม 41 สถานี และระยะทางรวม 51.45 กิโลเมตร ประกอบด้วย
2.1 รถไฟฟ้าสาย สีแดงบางซื่อ-หัวลําโพง 2.2 รถไฟฟ้าสาย สีเขียวสนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส 2.3 รถไฟฟ้าสาย สีเขียวบางหว้า-ตลิ่งชัน 2.4 รถไฟฟ้าสาย สีเงินบางนา-สุวรรณภูมิ ซึ่งเส้นทางนี้รอการพัฒนาอาคารที่พักผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ ด้านทิศใต้แล้วเสร็จ เพื่อให้รถไฟฟ้าเส้นทางนี้เชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิได้โดยตรง ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการขออนุมัติ EIA 2.5 รถไฟฟ้า สายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ เส้นทางนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติ EIA และ 2.6 รถไฟฟ้า สายสีทอง คลองสาน-ประชาธิปก
3.เส้นทางที่มีศักยภาพ จะเป็นเส้นทางใหม่ ที่มีปริมาณผู้โดยสารถึงเกณฑ์ที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าได้จํานวน 10 ระยะทาง รวม 167.50 กิโลเมตร ดังนี้ 3.1 รถไฟฟ้าสาย สีแดงวงเวียนใหญ่ -บางบอน ออกแบบตามแนวเส้นทางใหม่ เนื่องจากเขตทางเดิมไม่เพียงพอที่จะก่อสร้างได้ 3.2
รถไฟฟ้าสาย สีฟ้า สาธร-ดินแดง 3.3 รถไฟฟ้าสาย สีเขียวคูคต-วงแหวนรอบนอก 3.4 รถไฟฟ้าสาย สีเทา ลําลูกกา-วัชรพล 3.5 รถไฟฟ้าสาย สีเทา พระโขนง-ท่าพระ
3.6 รถไฟฟ้าสาย สีแดง หัวลําโพง-วงเวียนใหญ่ 3.7 รถไฟฟ้าสาย สีแดง บางบอน-มหาชัย-ปากท่อ 3.8 รถไฟฟ้าสาย สีเขียว เคหะ-ตำหรุ 3.9 รถไฟฟ้าสาย สีนํ้าเงิน บางแค-พุทธ มณฑลสาย 4 และ 3.10 รถไฟฟ้าสาย สีเขียว ตลิ่งชัน-รัตนาธิเบศร์ และ 4.กลุ่มรถฟีดเดอร์ ซึ่งจะเป็นรถเมล์ไฟฟ้า มาให้บริการในจํานวน 26 เส้นทาง ในระยะทางรวม 389.50 กม.ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการต่างๆนั้น ทางกรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างการพิจารณา ก่อนเสนอผลการศึกษาต่อกระทรวงคมนาคม.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่