ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลาดผู้บริโภคคนจีน นับเป็นอีก 1 จักรวาลการเติบโตของแบรนด์ไทยในหลากหลายธุรกิจ และความคลั่งไคล้ในรสชาติอาหาร - เครื่องดื่มไทยในหมู่คนจีน ก็ได้ช่วยให้แบรนด์ไทยแจ้งเกิดแบบตะโกนไม่ยากนัก ยิ่งวัฒนธรรมจากอินเทอร์เน็ต การพูดต่อบอกต่อในโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอิทธิพลมาก
“โกโก้ร้านไอ้ต้น” คือ แบรนด์เครื่องดื่มโกโก้ชื่อดังจากไทยที่ไปเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นจีน นับตั้งแต่เข้าไปเปิดตลาดปี 2566 ผ่านการขายลิขสิทธิ์ตัวตนของแบรนด์หรือแฟรนไชส์
โดยล่าสุด ภายในระยะเวลาปีกว่าๆ “โกโก้ร้านไอ้ต้น” หรือชื่อภาษาจีน : 大胡子冰可可 นั้น พบว่ามีการขยายสาขาตามเมืองต่างๆ ในหลายมณฑลรวมกว่า 160 แห่ง ทั้งที่เป็นรูปแบบร้านประจำหรือร้านป็อปอัพสโตร์ตามสถานที่หรือศูนย์การค้าที่มีผู้คนพลุกพล่าน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครคุนหมิง
ข้อมูลรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศของไทย ณ เมืองเซี่ยเหมิน ระบุว่า กลยุทธ์และความสำเร็จของ “โกโก้ร้านไอ้ต้น” ซึ่งได้รับความนิยมและพูดถึงอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียของจีนนั้น
มาจากความแปลกใหม่ โดยมีจุดเด่นที่โลโก้ร้านเป็น “รูปนักเรียน” ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของ “ต้น-ประชานารถ โพธิสาราช” เจ้าของแบรนด์ที่เป็นคนไทย
ลูกเล่นในการขายของแบรนด์ดังกล่าว คือ การปรับเปลี่ยนหนวดหรือการแต่งกายของต้นบนโลโก้ข้างแก้ว ให้มีรูปลักษณ์แตกต่างกันไปตามเมนูและระดับความเข้มข้นที่ลูกค้าเลือก เช่น หากสั่งโกโก้รสช็อกโกแลตมินต์ หนวดของต้นจะเป็นสีเขียว หรือหากสั่งเมนูพิเศษช่วงคริสต์มาส ต้นก็จะแต่งตัวเป็นซานตาคลอส
ด้วยการตลาดรูปแบบที่สร้างสรรค์ไม่เหมือนใคร ทำให้ดึงดูดกลุ่มคนหนุ่มสาวจำนวนมากให้มาแวะมาเช็คอินและถ่ายรูปบอกต่อร้านฯ รวมถึงเมนูต่างๆ บนแพลตฟอร์มโซเชียลยอดนิยมของจีนอย่าง Little Red Book (ชื่อภาษาจีน : 小红书 XiaoHongShu) เป็นจำนวนมาก
เมนูของร้านเน้นไปที่โกโก้เป็นหลัก โดยวัตถุดิบที่ใช้ในร้านประมาณ 50% นำเข้าจากประเทศไทย ลูกค้าสามารถเลือกรสชาติและความเข้มข้นได้ตามต้องการ มีระดับความเข้มข้น 4 ระดับให้เลือก ได้แก่ “ละอ่อน” “เข้ม” “โคตรเข้ม” และ “โคตรหวาน” ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ถึง 22 หยวน
ซึ่งนอกจากการตลาดและเครื่องหมายการค้าที่โดดเด่นของโกโก้ร้านไอ้ต้น จุดเด่นที่สำคัญอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายสาขาอย่างรวดเร็วก็คือ ต้นทุนการลงทุนเปิดร้านที่ต่ำ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านใหญ่ก็สามารถเริ่มต้นขายได้ ซึ่งเข้าถึงกลุ่มผู้ที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์แต่มีเงินลงทุนไม่มาก หรือต้องการลงทุนในธุรกิจที่ไม่เสียเงินลงทุนเปิดร้านมากจนเกินไป
ท้ายที่สุด การเติบโตของโกโก้ร้านไอ้ต้นในตลาดจีน สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวที่น่าสนใจ โดยแบรนด์ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว และการออกแบบที่หลากหลาย สร้างความขบขันเพื่อให้ดึงดูดกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักในจีน
ทำให้เกิดการแชร์และแนะนำผ่านโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง เพราะเทรนด์ของธุรกิจจะขายไม่เฉพาะแต่ตัวสินค้าเท่านั้น การสร้างความจดจำและแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ จะนำไปสู่การขายลิขสิทธิ์ที่เป็นจุดเด่นสำคัญสำหรับโอกาสโกอินเตอร์สำหรับแฟรนไชส์สัญชาติไทยรายอื่นต่อไป
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney