สุดยอด 20 สินค้า GI ไทยทำเงินสูงสุด พลิกชีวิตเกษตรกร-ผู้ผลิตในท้องถิ่น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สุดยอด 20 สินค้า GI ไทยทำเงินสูงสุด พลิกชีวิตเกษตรกร-ผู้ผลิตในท้องถิ่น

Date Time: 16 เม.ย. 2567 06:59 น.

Summary

  • การขึ้นทะเบียน GI นอกจากเกษตรกรและผู้ผลิตจะได้รับความคุ้มครอง “ชื่อสินค้า” ให้เป็นสิทธิของชุมชนตามกฎหมาย โดยคนนอกชุมชนจะแอบอ้างนำชื่อสินค้าไปใช้ไม่ได้แล้ว ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ในการร่วมกันควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้า ช่วยเพิ่มมูลค่าได้อีกหลายเท่าตัว

Latest

ย่ำแย่ ปีการศึกษา 2567 กู้ "กยศ." พุ่งเป็นประวัติการณ์

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และสินค้าชุมชน เพื่อสร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร และประชาชนในท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ เพราะจะมีส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน

หนึ่งในแนวนโยบายดังกล่าว คือ การส่งเสริมและสนับสนุน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indication) หรือ GI ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ในพื้นที่ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สั่งสมกันมายาวนาน จนเกิดเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่

โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ผลิตชุมชนนำสินค้าอัตลักษณ์ของตนมายื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงส่งเสริมการควบคุมคุณภาพ เพื่อรักษาคุณภาพและอัตลักษณ์ของสินค้า สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และส่งเสริมช่องทางการตลาด

การขึ้นทะเบียน GI นอกจากเกษตรกรและผู้ผลิตจะได้รับความคุ้มครอง “ชื่อสินค้า” ให้เป็นสิทธิของชุมชนตามกฎหมาย โดยคนนอกชุมชนจะแอบอ้างนำชื่อสินค้าไปใช้ไม่ได้แล้ว ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ในการร่วมกันควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในสินค้า ช่วยเพิ่มมูลค่าได้อีกหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ ยังใช้ GI เป็นเครื่องมือทำการตลาด ขณะเดียวกัน เกษตรกร และผู้ผลิตยังได้รับการสนับสนุนจดทะเบียน GI ในต่างประเทศ ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในระดับสากล และได้รับการสนับสนุนให้แหล่งผลิตเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ปัจจุบันมีสินค้า GI ไทยขึ้นทะเบียนในประเทศครบทั้ง 77 จังหวัดแล้วรวม 200 รายการ สร้างมูลค่าการตลาดไม่ต่ำกว่า 58,000 ล้านบาท และมี 8 รายการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน เป็นต้น ครอบคลุม 33 ประเทศทั่วโลก คือ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย

ส่วนปี 67 มีสินค้าที่อยู่ระหว่างรอขึ้นทะเบียนในประเทศ 20 รายการ แต่ขึ้นทะเบียนสำเร็จแล้ว 9 รายการ เช่น อะโวคาโดตาก ข้าวหอมใบเตยนครสวรรค์ ปลิงทะเลเกาะยาว ผ้าหมักโคลนบึงกาฬ เป็นต้น อีกทั้งยังรอขึ้นทะเบียนในต่างประเทศอีก 1 รายการ คือ ไวน์เขาใหญ่ เพื่อขอรับความคุ้มครองในเวียดนาม

“ทีมเศรษฐกิจ” ขอแนะนำ สินค้า GI 20 รายการแรกที่สร้างรายได้สูงสุด ทั้งจากการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกที่พลิกฟื้นชีวิตเกษตรกร และผู้ผลิตชุมชน สู่ความอยู่ดีกินดี จะมีสินค้าใด จากแหล่งผลิตใด เชิญติดตาม.

ทุเรียนหมอนทองระยอง สร้างรายได้ปีละกว่า 16,408 ล้านบาท เป็นพันธุ์หมอนทอง ปลูกในพื้นที่จังหวัดระยอง เป็นที่ราบชายฝั่งจากการทับถมของตะกอนแอ่งลุ่มน้ำระยอง และเป็นที่ลาดสลับเชิงเขา สภาพอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ลมทะเลพัดผ่านตลอดปี อากาศอบอุ่น ไม่ร้อนจัด ในช่วงเก็บเกี่ยวผลทุเรียน ลมทะเลพัดผ่านส่งผลให้ดินคายน้ำเร็ว ทำให้ดินแห้ง ส่งผลต่อการคายน้ำของผลทุเรียน ทำให้เนื้อทุเรียนมีความละเอียด สีเหลืองนวล แห้ง เหนียว เส้นใยน้อย กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวานมัน.

มะพร้าวทับสะแก สร้างรายได้ปีละกว่า 3,461 ล้านบาท เป็นมะพร้าวพันธุ์ไทย คือ พันธุ์สวีลูกผสม 1 และ 2 มีผลใหญ่ ทรงกลม หรือรีเล็กน้อย เปลือกหนา เนื้อสีขาวหนา 2 ชั้น ให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง รสชาติ (กะทิ) หอม และมัน ปลูกในพื้นที่อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะตำบลเกาะหลัก คลองวาฬ และห้วยทราย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งภูมิประเทศมีความลาดเอียง และติดอ่าวไทย ทำให้ระบายน้ำดี ดินมีแร่ธาตุ มีแสงแดดเหมาะสม ฝนตกชุก เหมาะสมในการปลูกมะพร้าว.

มะขามหวานเพชรบูรณ์ สร้างรายได้ปีละกว่า 3,317 ล้านบาท เป็นมะขามหวานฝักตรง พันธุ์ศรีชมภู พันธุ์ขันดี พันธุ์ประกายทอง พันธุ์ฝักดาบ พันธุ์หวานอ่อน และฝักโค้ง พันธุ์สีทอง พันธุ์สีทองเบา พันธุ์น้ำผึ้ง พันธุ์อินทผาลัม พันธุ์หมื่นจงและพันธุ์แสงอาทิตย์ปลูกในจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีดินร่วนปนทราย ดินเหนียว ดินกรวดปนลูกรัง มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่านจังหวัดจากภาคเหนือจดใต้ ดินมีธาตุฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับปลูกมะขามหวาน.

ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา สร้างรายได้ปีละกว่า 2,878 ล้านบาท เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำหรือโอฉี่ ปลูกบนพื้นที่สูง จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ในเขตพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งมีความลาดชันมากกว่า 35% ทำให้ระบายน้ำได้ดี ส่งผลให้คุณภาพทุเรียนแถบนี้ต่างจากที่อื่น คือเนื้อแห้ง ไม่แฉะ เนื้อละเอียด เส้นใยน้อย เนื้อมีสีเหลืองอ่อน หรือเข้มตามแต่ละสายพันธุ์ มีกลิ่นเฉพาะตัว ตามสายพันธุ์ รสชาติหวานมัน.


กุ้งก้ามกรามบางแพ สร้างรายได้ปีละกว่า 2,569 ล้านบาท เป็นกุ้งก้ามกราม เปลือกสีน้ำเงินมันเงา ก้ามสี น้ำเงิน หรือครามปนทอง เนื้อแน่นเต็มเปลือก เมื่อปรุงสุกมีรสชาติหวาน มันกุ้งมาก ไม่มีกลิ่นคาว เพาะเลี้ยงและผลิตในพื้นที่อำเภอบางแพ ดำเนินสะดวก และโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ลักษณะเป็นดินเหนียว เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำจืด น้ำทะเล และน้ำกร่อย บางส่วนเกิดจากตะกอนน้ำพัดพา จึงมีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุ และจุลินทรีย์ อีกทั้งมีอากาศเย็น เหมาะแก่การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม.

หอมแดงศรีสะเกษ สร้างรายได้ปีละกว่า 2,292 ล้านบาท เป็นหอมแดงพันธุ์ศรีสะเกษ มีลักษณะเปลือกแห้งมัน สีแดงเข้มปนม่วง ลักษณะกลม มีกลิ่นฉุน ปลูกในพื้นที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอราษีไศล อำเภอ ยางชุมน้อย อำเภอกันทรา รมย์ อำเภออุทุม พรพิสัย อำเภอวังหิน และอำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในเขตลุ่มน้ำมูลเป็นดินตะกอนลำน้ำพัดพามาทับถมกันเป็นเวลานาน มีการระบายน้ำเลว ส่งผลให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกหอมแดงให้ได้คุณภาพดี.


ข้าวหอมมะลิพะเยา สร้างรายได้ปีละกว่า 2,250 ล้านบาท เป็นข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาวที่แปรรูปจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 เมล็ดข้าวสารเรียว ยาว ใส ท้องไข่น้อย เมื่อหุงแล้วนุ่ม มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย แม้ทิ้งไว้นานยังคงกลิ่นหอม ปลูกในพื้นที่ลุ่มล้อมรอบด้วยเทือกเขา หรือแอ่ง ซึ่งรองรับด้วยส่วนที่เป็นหินแข็งอายุตั้งแต่ 286 ล้านปี อยู่ในพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดพะเยา ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง อำเภอแม่ใจ อำเภอภูซาง และอำเภอภูกามยาว.

ขนมหม้อแกงเมืองเพชร สร้างรายได้ปีละกว่า 1,500 ล้านบาท เป็นขนมหม้อแกง ที่ผลิตขึ้นในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ด้วยกรรมวิธีพิเศษตามภูมิปัญญาของคนเมืองเพชรบุรี โดยใช้น้ำตาลโตนดเมืองเพชร จากต้นตาลโตนดที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นส่วนผสมสำคัญ ทำให้ขนมหม้อแกงเมืองเพชร มีสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นหอมน้ำตาลโตนด มีรสชาติหวาน กลมกล่อม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ.


ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ สร้างรายได้ปีละกว่า 1,360 ล้านบาท เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ชะนี พันธุ์ก้านยาว ปลูกในพื้นที่อำเภอขุนหาญ อำเภอกันทรลักษ์ และอำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีดินที่เกิดจากภูเขาไฟโบราณ ผุพังมาจากหินบะซอลต์ มีแร่ธาตุต่างๆ มากมาย ดินมีลักษณะเหนียว ละเอียดสลับกับหินหยาบ มีการระบายน้ำดีเยี่ยมไม่แฉะ หรือน้ำขัง ส่งผลให้ทุเรียนเติบโตได้ดีมาก ผลผลิตที่ได้จึงมีเนื้อแห้ง นุ่ม เนียน เนื้อสีเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอม ไม่ฉุน รสชาติค่อนข้างหวาน.

ทุเรียนจันท์ สร้างรายได้ปีละกว่า 1,315 ล้านบาท ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พวงมณี นกหยิบ ทองลินจง นวลทองจันทร์ กบสุวรรณ และพันธุ์การค้า ได้แก่ จันทบุรี 1-10 ปลูกและผลิตในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรีที่มีสภาพดินเป็นดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินปูน ทำให้ดินมีความเป็นด่าง เป็นดินตื้นถึงลึก ระบายน้ำได้ดีถึงดีมาก มีสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้ทุเรียนเติบโตได้ดี มีเนื้อละเอียด สีเหลือง หรือสีเหลืองเข้ม หรือสีเหลืองอมส้ม เนื้อหนา มีเส้นใยน้อย หรือไม่มีเส้นใย รสชาติหวานมัน หรือหวานแหลม.


มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว สร้างรายได้ปีละกว่า 1,297 ล้านบาท มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ต้นเตี้ย ผลกลมรีเหมือนหัวลิง ก้นมีจีบเป็นพู 3 พู เปลือกสีเขียว เนื้อมะพร้าวเหนียวนุ่ม น้ำมีรสหวาน กลิ่นหอมคล้ายใบเตย ปลูกในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ บ้านแพ้ว กระทุ่มแบน และอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล สูงจากระดับน้ำทะเล 1-2 เมตร เป็นความสูงที่เหมาะสมกับการปลูกมะพร้าวน้ำหอม ดินที่ปลูกเป็นดินเหนียว มีโพแทสเซียมที่จำเป็นกับมะพร้าวในการสร้างน้ำตาล และไขมัน ทำให้น้ำและเนื้อมะพร้าวมีรสชาติหวานหอม.

ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม สร้างรายได้ปีละกว่า 1,038 ล้านบาท ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ผลค่อนข้างใหญ่ ผิวเรียบ สีเขียวอมเหลือง ต่อมน้ำมันใหญ่ เปลือกหนา เปลือก ด้านในสีขาว เนื้อมีขนาดใหญ่สีขาวอมเหลืองเบียดกันแน่น ผลหนึ่งมี 12-14 กลีบ แยกออกจากกันได้ง่าย แกะล่อนไม่ติดเปลือก มีเมล็ดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดลีบ รสหวานถึงอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีน้ำมาก แต่ไม่แฉะ ปลูกในเขตพื้นที่ตำบลบางขันแตก ตำบลท้ายหาด อำเภอเมือง อำเภออัมพวา ยกเว้นตำบลยี่สาร
และแพรกหนามแดง และอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม.

ทุเรียนวงในระนอง สร้างรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ผลทรงกลมรี มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามถี่ สีเขียวเนื้อหนาเนียน ละเอียด สีเหลืองทอง เมล็ดลีบ รสชาติหวานหอม มัน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน ปลูกในพื้นที่ตำบลในวงเหนือ และตำบลในวงใต้ ของอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เป็นพื้นที่ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนเหมือนอยู่ปากปล่องภูเขาไฟ ความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 320 เมตร มีแหล่งน้ำจากป่าต้นน้ำและคลองทั้งสายหลัก ทำให้ ทุเรียนมีความสมบูรณ์.


ขนุนหนองเหียงชลบุรี สร้างรายได้ปีละกว่า 849 ล้านบาท ขนุนผลใหญ่ เปลือกบาง ซังน้อย ยวงใหญ่ เนื้อหนา แห้ง และกรอบ เนื้อมีสีเหลืองทองสีเหลืองแดงอมส้ม สีเหลืองอมส้ม สีเหลืองเข้ม รสชาติหวานกำลังดี มีกลิ่นหอมไม่แรงเกินไป เป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว ปลูกและผลิตในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี อยู่ติดกับชายฝั่งทะเล อุณหภูมิตลอดทั้งปีไม่เปลี่ยน แปลงมากนัก คือ ฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัด และฤดูหนาว อากาศไม่หนาวจัดเหมาะสมกับขนุนที่จะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 30-40 องศาเซลเซียส.

ไชโป้วโพธาราม สร้างรายได้ปีละกว่า 788 ล้านบาท ไชโป้วเค็ม และไชโป้วหวาน ที่ผลิตจากผักกาดหัวหรือหัวไชเท้าเฉพาะส่วนราก ที่มีเนื้อสีขาว โดยนำมาแปรรูปด้วยวิธีการดองเค็มด้วยเกลือทะเล และวิธีการดองหวานด้วยน้ำตาลทรายขาว ซึ่งเป็นวิธีการ ถนอมอาหารจากภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ที่สืบทอดกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น รสชาติเค็ม หรือหวานปนเค็ม ที่กลมกล่อม กรอบ และมีสีน้ำตาลสวย ผลิตในพื้นที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี.


สับปะรดตราดสีทอง สร้างรายได้ปีละกว่า 750 ล้านบาท สับปะรดสายพันธุ์ควีน มีผลใหญ่ รูปทรงกระบอก เปลือกบาง ผิวเปลือกสีเหลืองแกมเขียว เนื้อสีเหลืองทอง ไม่ฉ่ำน้ำ เยื่อใยน้อย รสชาติหวาน แกนกรอบรับประทานได้ ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ อำเภอแหลมงอบ และอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลาดเอียง ระบายน้ำได้ดี และมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ ประกอบกับลักษณะภูมิอากาศเหมาะกับการปลูกสับปะรด ทำให้ได้สับปะรดขนาดใหญ่ และมีคุณภาพดี.


อะโวคาโดตาก สร้างรายได้ปีละกว่า 714 ล้านบาท พันธุ์แฮสส์ พันธุ์บัคคาเนียร์ พันธุ์ปีเตอร์สัน พันธุ์พิงเคอร์ตัน พันธุ์บูท 7 พันธุ์ปากช่อง 2-8 พันธุ์รูเฮิล และพันธุ์พื้นเมือง เนื้อมีลักษณะเหนียว สีเหลืองอ่อน หรือสีเหลือง หรือสีเหลืองอมเขียว ส่วนเนื้อติดเปลือกเป็นสีเขียว ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติมัน ปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 400-1,200 เมตร ในเขตพื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับการปลูกอะโวคาโด อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ทำให้มีน้ำตลอดปี ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี มีธาตุเหล็กและแมงกานีสมาก.


เงาะโรงเรียนนาสาร สร้างรายได้ปีละกว่า 604 ล้านบาท เงาะพันธุ์โรงเรียน มีผลทรงกลม เปลือกบาง เนื้อหนา แห้ง กรอบล่อนจากเมล็ด รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบเชิงเขา มีแหล่งน้ำมาก ดินเป็นดินตะกอนทับถมระบายน้ำดี มีธาตุยิปซัมและแมกนีเซียมปริมาณมาก สภาพอากาศได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ มีฤดูฝนยาวนาน เหมาะแก่การปลูกเงาะ.


กล้วยหอมทองปทุม สร้างรายได้ปีละกว่า 600 ล้านบาท กล้วยหอมทองที่มีผลขนาดใหญ่ ยาว หน้าตัดค่อนข้างกลม ปลายคอดเล็กน้อย ผิวนวล เปลือกบาง ผลดิบมีสีเขียวนวล ผลสุกสีเหลืองทองนวล เนื้อเหนียว แน่น รสชาติหอมหวาน ปลูกในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ลักษณะดินเป็นดินเหนียว อุดมสมบูรณ์ มีความเป็นกรด หรือดินเปรี้ยว ระบายน้ำได้ช้า มีระบบชลประทานที่มีน้ำตลอดปี ทำให้เพาะปลูกพืชแบบร่องสวนและนำโคลนในร่องน้ำมาใช้ปรับพื้นที่ และบำรุงต้นพืช ทำให้กล้วยหอมที่ปลูกได้ให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ.


สับปะรดบ้านคา สร้างรายได้ปีละกว่า 600 ล้านบาท สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย รสหวานฉ่ำ ไม่กัดลิ้น กลิ่นหอม เนื้อละเอียด หนานิ่ม มีตาผลค่อนข้างตื้น เมื่อปอกเปลือกแล้วตาผลจะติดออกไปกับเปลือก ปลูกในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ จอมบึง ปากท่อ สวนผึ้ง และบ้านคา จังหวัดราชบุรี ที่มีลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากสับปะรดในแหล่งอื่น.

สำหรับสินค้า GI อื่นๆที่ไม่ได้กล่าวถึง ยังคงขายดิบขายดี บางสินค้าผลิตไม่พอขาย ต้องสั่งจองล่วงหน้าข้ามปี ช่วยทำให้เกษตรกร และผู้ผลิตในท้องถิ่น ยิ้มได้ เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น และความเป็นอยู่ดีขึ้น.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ