ไทยเสี่ยง ขาดแคลน “แรงงาน” ประชากรน้อย แนวโน้มลด เดินตามรอยจีน อีก 10 ปีข้างหน้า สวนทางเพื่อนบ้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยเสี่ยง ขาดแคลน “แรงงาน” ประชากรน้อย แนวโน้มลด เดินตามรอยจีน อีก 10 ปีข้างหน้า สวนทางเพื่อนบ้าน

Date Time: 27 มี.ค. 2567 16:01 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • ไทยเข้าสู่ Super-Aged Society ก่อนหลายประเทศในเอเชีย เสี่ยงขาดแคลนแรงงานวัยทำงาน ตามรอยจีน สวนทางประเทศเพื่อนบ้าน สะเทือนทิศทางเศรษฐกิจ

Latest


จำนวนแนวโน้ม ประชากร ที่ลดน้อยถอยลง กำลังเป็นเรื่องใหญ่ทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก โดย “จีน” เป็นตัวอย่าง ของความน่ากังวลที่ชัดเจนที่สุด เพราะอยู่ระหว่างเผชิญปัญหา ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี จน อินเดีย ขึ้นมาแซงหน้า 

ซึ่งนั่นอาจทำให้อนาคต นอกจากจีนจะมีฐานรายได้จากภาษีที่ลดลง และฟุ่มเฟือยค่าใช้จ่ายของรัฐ ไปกับการดูแล สังคมสูงวัยมากขึ้น ในภาคอุตสาหกรรม ก็มีโอกาส “ขาดแคลนแรงงาน” สูงด้วย 

อย่างไรก็ดี สถานการณ์เช่นนี้ อาจกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานน้อย และมีแนวโน้มลดลงมากขึ้น 

เนื่องจาก ไทยกำลังเข้าสู่ Super-Aged Society ซึ่งหมายถึง ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ก่อนหลายประเทศในเอเชีย ในอีก 10 ปีข้างหน้า สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้าน 

เจาะเปรียบเทียบ สัดส่วนประชากรวัยทำงานของแต่ละประเทศ ที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น ดังนี้ 

ไทย 

  • ปี 2567 สัดส่วนแรงงาน อยู่ที่ 61% แต่ ปี 2577 อาจลดลงเหลือเพียง 56% 

จีน 

  • ปี 2567 สัดส่วนแรงงาน อยู่ที่ 63% แต่ ปี 2577 ลดลงเหลือ 59% 

ฟิลิปปินส์ 

  • ปี 2567 สัดส่วนแรงงาน อยู่ที่ 61% แต่ ปี 2577 จะเพิ่มขึ้นเป็น 62% 

เวียดนาม

  • ปี 2567 สัดส่วนแรงงาน อยู่ที่ 63% แต่ ปี 2577 ลดลงเหลือ 62% 

อินโดนีเซีย 

  • ปี 2567 สัดส่วนแรงงาน อยู่ที่ 64% แต่ ปี 2577 ลดลงเหลือ 63% 


อินเดีย 

  • ปี 2567 สัดส่วนแรงงาน อยู่ที่ 65% ขณะ ปี 2577 ยังคงสูงที่ 65% 

จะเห็นได้ว่า จำนวนประชากรของอินเดีย ที่จะเปลี่ยนเป็น วัยแรงงาน ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราการเติบโตราว 8.1% (1,557.9 ล้านคน) ในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะแชมป์เก่าผู้ครองตำแหน่ง ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก อย่างจีน ตามข้อมูลจะลดลง 1.5% จาก กว่า 1,425.2 ล้านคน มาอยู่ที่ 1,403.3 ล้านคน 

เช่นเดียวกับแนวโน้มของประเทศไทย ที่จากปัจจุบันมีจำนวนประชากรรวมทั้งประเทศ 71.9 ล้านคน ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะลดลง 0.1% มาอยู่ที่ 71.8 สวนทางประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย แนวโน้มสัดส่วนประชากรสูงขึ้น 7%, ฟิลิปปินส์ 14.2% และเวียดนาม เพิ่มขึ้น 4.8%


ทั้งนี้ จากจำนวนประชากรไทยที่ลดลง และจะมีสัดส่วนแรงงานสูงอายุและผู้เกษียณอายุเพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยยังคงเน้นใช้ปัจจัยแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิต ซึ่งภาคเกษตรและภาคบริการ ก็ยังคงเป็นภาคที่มีความเข้มข้นในการใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตสูง 

แต่กลุ่มแรงงานที่สำคัญที่สุด ต่อกระบวนการผลิต คือ แรงงานกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่ 25–59 ปี ซึ่งเมื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ส่งผลให้กำลังแรงงานในวัยทำงานลดลง อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลผลิตในภาคการผลิต และทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์