ผู้สื่อข่าวรายงานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะกลับมาประสบปัญหาในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) ทั้งในส่วนของประกอบกิจการใหม่ และการขออนุญาตขยายโรงงานที่เกิดความล่าช้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งพบว่าเรื่องการขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทของ กรอ.ค้างอยู่ประมาณ 200 ราย สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก ทั้งที่ประเทศไทยในขณะนี้ต้องการมูลค่าการลงทุน เพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาต จึงต้องการให้ กรอ.แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาปัญหาการขอใบอนุญาต รง.4 เป็นประเด็นร้อนที่นักลงทุนจากทั่วโลกที่เข้ามาลงทุนในไทยร้องเรียนอย่างหนักว่า มีขั้นตอนยุ่งยาก มีความล่าช้าอย่างมาก ถูกตราหน้าเป็นตัวถ่วงการลงทุน
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ปัญหาใบอนุญาต รง.4 เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ปัญหานี้เริ่มกลับมาตั้งแต่ปี 2566 และเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นักลงทุนไม่เข้าใจว่า ทำไมปัญหากลับมาอีกแล้ว ทั้งที่รัฐบาลก็ประกาศนโยบายเรื่องอำนวยความสะดวกนักลงทุน แต่ใบ รง.4 กลับเป็นตัวถ่วงการลงทุนอย่างหนัก เพราะติดขั้นตอนอยู่ที่ กรอ. โดยนักลงทุนหลายๆราย ยืนยันว่าเอกสารประกอบการขอใบอนุญาต มีครบถ้วน แต่กลับไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กรอ. เมื่อสอบถามมาที่ กรอ.ก็ไม่มีคำตอบ ว่าเหตุผลใดจึงทำให้เรื่องล่าช้า และไม่มีคำตอบให้นักลงทุน โดยแจ้งเพียงว่าให้รอไปก่อน
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาต รง.4 ตนได้รับการร้องเรียนมาเช่นกัน ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ได้เรียกประชุมเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมรวบรวมข้อมูลการขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบทั้งหมด ว่า อยู่ในระบบนานเท่าไร สาเหตุ ของการตกค้าง และเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ใด โดยต้องกำหนดแนวทางในการจัดการคำขออนุญาตมาแจ้งตนในการประชุมวันที่ 26 มี.ค.นี้ เนื่องจากขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้กับนักลงทุนทุกรายที่ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว
“เบื้องต้นเข้าไปตรวจสอบ พบว่า เรื่องยังตกค้างอยู่ใน กรอ.ประมาณ 100 เรีื่อง ที่ไม่สามารถออกใบอนุญาต รง.4 ให้แก่ภาคเอกชน โดยอาจเกิดจากเอกสารประกอบการพิจารณาไม่ครบถ้วน การรอข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เช่น การขออนุญาตโรงไฟฟ้าหรือโรงแปรรูปไม้ หรืออาจเกิดจากการทำงานที่เป็นการตั้งรับมากกว่าเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ ยิืนยันว่าจะต้องเร่งเคลียร์ใบอนุญาตที่ค้างให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้าผู้ประกอบการลงทุนรายใดเอกสารไม่ครบ ก็ต้องเร่งแจ้งว่าขาดอะไร รายใดเอกสารถูกต้องครบแล้ว ก็ต้องเร่งให้ใบอนุญาตออกไป”
น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าวว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ไม่สามารถออกใบอนุญาต รง.4 ให้นักลงทุนได้ หรือต้องผ่านหลายขั้นตอน หลายฝ่าย หลายโต๊ะ หลายคน ทำให้ขาดประสิทธิภาพ เรื่องนี้ตนยอมไม่ได้ ต้องเร่งเคลียร์ เร่งอนุญาตให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการโดยเร็ว ต่อไปต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาต รง.4 ให้เป็นวัน สต็อป เซอร์วิสอย่างแท้จริง เพื่อลดระยะเวลาการออกใบอนุญาต และให้ทุกคำขอ อยู่ภายในกรอบเวลาของคู่มือการให้บริการประชาชน.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่