เฝ้าระวัง จีนส่งออก “ภาวะเงินฝืด” ทุ่ม สินค้าราคาถูก-ไม่มีมาตรฐาน-หนีภาษี ทะลักเข้าไทย กระอัก SME

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เฝ้าระวัง จีนส่งออก “ภาวะเงินฝืด” ทุ่ม สินค้าราคาถูก-ไม่มีมาตรฐาน-หนีภาษี ทะลักเข้าไทย กระอัก SME

Date Time: 12 ก.พ. 2567 11:10 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • นักวิชาการคาด จีนเผชิญภาวะ “เงินฝืด” ยืดเยื้อนาน 6 เดือน ถึง 1 ปี ส่งสัญญาณเศรษฐกิจแดนมังกร หมดยุครุ่งเรือง เข้าสู่โหมดปฏิรูป ขณะไทยและอาเซียนเสี่ยงถูกจีนส่งผ่านเงินฝืด ผ่านการทุ่มตลาด ด้วยสินค้าราคาถูกเข้ามาขายแข่ง สอดคล้องเอกชน โวย SME กำลังแข่งไม่ไหว จี้รัฐตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสินค้าหลีกเลี่ยงภาษี

Latest


ตั้งแต่ตรุษจีน ปี 2021 หุ้นจีนปรับลดลงมาแล้วกว่า -40% ซึ่งสวนทางกับหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ +30% อย่างสิ้นเชิง นี่เป็นเพียงภาพผลกระทบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับ “ปัญหาเศรษฐกิจจีน” ในยามนี้ ซึ่งมาจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ เมื่อครั้งจีนล็อกดาวน์โควิด-19 และถูกตอกย้ำด้วยวิกฤติอสังหาฯ ครั้งใหญ่ ปี 2022 ยืดเยื้อยาวนาน นำมาสู่วัฏจักรเชิงลบ ทั้งระบบของการลงทุนใหม่ แม้จีนจะอยากพึ่งพาอสังหาฯ น้อยลงก็ตาม


อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้มีข้อมูลออกมาว่า เงินเฟ้อจีนเดือน ม.ค. ปี 2024 ติดลบสูงสุดในรอบ 15 ปี ที่ -0.8% มาตรวัดที่เป็นสัญญาณชี้เศรษฐกิจกำลังถูกตั้งคำถามว่า จีนอยู่ในภาวะเงินฝืดหรือไม่ และประเทศไทยในฐานะคู่ค้าสำคัญ จะมีผลกระทบอย่างไร? เพราะสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ที่มีลักษณะคล้ายๆ กับบ้านเรา

หมดยุครุ่งเรืองของเศรษฐกิจจีน 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้มุมมองคาดการณ์ว่า “ภาวะเงินฝืด” และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงของจีน มีโอกาสยืดเยื้อไปได้อีกเกิน 6 เดือน ถึง 1 ปี 

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ยุคสมัยของความรุ่งเรืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า 10% ของจีนได้จบลงแล้ว โดยภาวะเงินฝืดที่ค่อนข้างรุนแรงของจีน จากอัตราเงินเฟ้อติดลบมาอย่างต่อเนื่อง อุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิต ทำให้อุปสงค์ภายในจีนที่ยังอ่อนแอไม่สามารถดูดซับได้ 

จึงมีการส่งออกสินค้าต่างๆ ในราคาถูกมากทุ่มตลาดมายังไทยและอาเซียน ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศไทยและอาเซียน กดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและติดลบในบางประเทศ 

จีนส่งออกภาวะเงินฝืดผ่านการทุ่มตลาด การที่ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงต่อเนื่องได้เกิดสภาวะผู้ซื้อ หรือผู้บริโภคชะลอการซื้อ เพราะคาดว่าราคาจะปรับลดลงอีก ผู้ผลิตชะลอการผลิตเพราะขายไม่ได้ราคา ภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นเมื่อมีอุปทานสูง (มีส่วนเกินของผลผลิตมากจากการลงทุนส่วนเกิน หรือลงทุนอย่างไม่ระมัดระวัง) มีอุปสงค์ต่ำ (การบริโภคลดลงมาก) หรืออุปทานเงินลดลงและดอกเบี้ยสูง 

ภาวะเงินฝืดและเงินเฟ้อลดต่ำลงดังกล่าวยังเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตภาพของแรงงานและทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก การเปิดเสรีที่ทำให้การแข่งขันมากเกินไป ภาวะเงินฝืดเป็นภาวะเจ้าหนี้ได้ประโยชน์ ขณะที่ภาระหนี้แท้จริงของลูกหนี้เพิ่มขึ้น มูลค่าแท้จริงของหนี้สินสูงขึ้น และเป็นภาวะที่คนที่ถือเงินสดได้ประโยชน์ เพราะอาจเกิดโอกาสของการลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้มากขึ้น 

“สถานการณ์เงินเฟ้อจีนติดลบจะส่งผลให้สินค้าราคาถูกมากหลากหลายชนิดทะลักเข้าตลาดไทยและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจการขนาดย่อมและขนาดเล็กที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนต้องออกจากตลาดไป”

สินค้าถูกไม่มีมาตรฐาน ทะลักเข้าไทย 

สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของภาคเอกชน ล่าสุด โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวยังไม่น่ากังวลเท่า ปัญหาสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย และในตลาดอาเซียน ทั้งจากสินค้าออนไลน์ (E-commerce) และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ รวมถึงการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี 

ประเด็นเหล่านี้ทำให้สินค้าราคาถูก รวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานทะลักเข้าตลาดภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ 

ดังนั้น กกร. จึงเสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ประกอบการไทย มีการทบทวนนโยบายและเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone รวมทั้งการออกมาตรการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ เช่น การนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาดมาบังคับใช้ การเพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร และการเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ครอบคลุม เป็นต้น

จับตาจีน เดินหน้าเข้าสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจ 

ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้ว่าหน้าตาของเศรษฐกิจจีนกำลังเปลี่ยนไป ย้อนไปในอดีตการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการลงทุนเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐาน ตามจำนวนประชากรในเขตเมืองที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ จีนได้ปฏิรูปประเทศ เปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ทำให้จีนกลายเป็นโรงงานผลิตและผู้ส่งออกสินค้าสำคัญของโลกด้วยความได้เปรียบด้านขนาดจำนวนแรงงานและค่าแรงต่ำ แต่ปัจจุบันปัจจัยดังกล่าวไม่สามารถพึ่งพาได้อย่างในอดีต 

เศรษฐกิจจีนจะต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหม่เพื่อสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพราะท้ายที่สุดเมื่อโลกเปลี่ยน จีนก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน ซึ่งในช่วงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจนี้ เศรษฐกิจจีนจะมีแนวโน้มชะลอตัวในระยะปานกลางถึงยาว แต่หากการยอมเจ็บในระยะสั้นจะได้มาซึ่งความมั่นคง ความยั่งยืน และความเท่าเทียมเพิ่มขึ้น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเศรษฐกิจจีนเองในระยะยาว รวมถึงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังไงก็ต้องพึ่งพาจีนไม่มากก็น้อยต่อไปในโลกที่ไม่สามารถแยกเป็นขั้วได้อย่างสมบูรณ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ