ชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงส่งออกข้าวปีนี้ จีทูจีขายยากขั้นตอนเยอะประเทศผู้นำเข้าเลือกซื้อได้

Money

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงส่งออกข้าวปีนี้ จีทูจีขายยากขั้นตอนเยอะประเทศผู้นำเข้าเลือกซื้อได้

Date Time: 8 ก.พ. 2567 09:35 น.

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้คนไทยยังมีกำลังซื้อ นโยบายกระตุ้นบริโภค ไม่ช่วยฟื้นภาคการผลิต

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลไทยมีนโยบายขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซียว่า ปัจจุบันจีทูจี ทำได้ยาก เพราะมีผู้ส่งออกข้าวจำนวนมาก ที่ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อจากใครก็ได้ ไม่เหมือนอดีตที่มีผู้ซื้อน้อยราย อีกทั้งรูปแบบการนำเข้าข้าวของแต่ละประเทศเปลี่ยนไป เช่น ฟิลิปปินส์ ที่เดิมซื้อแบบจีทูจี แต่หลายปีที่ผ่านมาเปลี่ยนให้เอกชนนำเข้าแทน ส่วนอินโดนีเซียรัฐซื้อจากเอกชน (จีทูพี) เพราะคล่องตัวกว่า ส่งมอบรวดเร็ว

“จีทูจีใช้เวลาการดำเนินการนาน เพราะกว่าจะทำรายละเอียดของสัญญาเสร็จ เจรจาต่อรองราคา ระยะเวลาส่งมอบ ฯลฯ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน อีกทั้งยังขายในราคามิตรภาพ แต่ราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งมาก และยังต้องวางหลักประกันสัญญาอีก แต่จีทูพี คุยกันอาทิตย์เดียวก็ส่งมอบได้แล้ว คิดว่า จีทูจีไม่น่าเกิด”

ส่วนการขายจีทูจีให้กับจีน ในส่วนที่เหลืออีก 272,000 ตัน จากสัญญาซื้อขายทั้งหมด 1 ล้านตันนั้น ขณะนี้ก็ยังซื้อขายไม่เสร็จ เพราะจีนระบุว่าราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวที่ขายภายในจีนมาก จึงไม่น่าจะนำเข้าได้ในเร็วๆนี้

สำหรับการส่งออกข้าวไทยปี 67 สมาคมตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7.5 ล้านตัน มูลค่า 150,000 ล้านบาท ปริมาณลดลงกว่า 1 ล้านตันจากปีก่อนที่ 8.76 ล้านตัน และมูลค่า 178,000 ล้านบาท โดยมี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องการให้รัฐดูแลและแก้ปัญหา ได้แก่ 1.ความผันผวนของค่าเงินบาท ทำให้ผู้ซื้อไม่มั่นใจราคาข้าวไทย จึงต้องการให้มีเสถียรภาพ 2.เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน เพราะข้าวไทยเป็นรองคู่แข่งทั้งผลผลิตต่อไร่ที่ได้เพียง 450 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ แต่เวียดนามมากกว่า 900 กก.ต่อไร่ และยังขาดสายพันธุ์ใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาด

3.นโยบายแข่งขันด้านราคา ซึ่งข้าวไทยมีราคาสูง ต้นทุนการผลิต และการขนส่งสูงกว่าคู่แข่ง 4.อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง คาดว่าราวครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวตลาดโลกลดลง และผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวอินเดียแทน และ 5. ผลกระทบจากเอลนีโญที่จะทำให้ผลผลิตเข้าไทยลดลง.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ