นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ปี 2567 และปี 2568 ว่า กระทรวงได้จัดทำแผนงานและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสอดรับกรอบนโยบายของรัฐบาลใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยภาพรวมโครงการลงทุนด้านคมนาคม ในปี 2567 จะมีโครงการที่จะเปิดให้บริการ 64 โครงการ และมีโครงใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้าง 31 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนรวม 389,750 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโครงการลงทุนใหม่ในปี 2568 อีก 57 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนรวม 263,016 ล้านบาท
โดยโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 31 โครงการ แบ่งเป็นการขนส่งทางบก 21 โครงการ อาทิ มอเตอร์เวย์ M9 วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก บางบัวทอง-บางปะอิน 15,260 ล้านบาท, มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยาย M7 เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา 4,508 ล้านบาท โครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย (จตุโชติ-ลำลูกกา) 24,060 ล้านบาท, โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต กะทู้- ป่าตอง 16,494 ล้านบาท รถโดยสารพลังงานสะอาดขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 29,236 ล้านบาท การพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย 2,887 ล้านบาท ขณะที่โครงการลงทุนทางราง 6 โครงการ อาทิ รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม รังสิต-มธ. ศูนย์รังสิต 6,468 ล้านบาท รถไฟชานเมืองสายสีแดงตลิ่งชัน-ศาลายา 10,670 ล้านบาท, รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศิริราช 4,616 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 37,527 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำ โดยมีโครงการใหม่ 2 โครงการคือ เปลี่ยนเครื่องจักรสำหรับยกขนตู้สินค้าในท่าเรือ (RTG) เป็นพลังงานไฟฟ้า ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 จำนวน 913 ล้านบาท และพัฒนาท่าเรือภูมิภาคเชื่อมโยงกระบี่-พังงา - ภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) ได้แก่ ท่าเรือมาเนาะห์ และท่าเรือช่องหลาด จ.พังงา ส่วนโครงการลงทุนการขนส่งทางอากาศมี 2 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศตะวันออก 9,000 ล้านบาท และก่อสร้างขยายทางขับและลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินและอื่นๆ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช 500 ล้านบาท
นายสุริยะกล่าวต่อว่า กระทรวงยังได้วางแผนพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมโครงการใหม่ปี 2568 ในเบื้องต้นมี 57 โครงการ มูลค่า 263,016 ล้านบาท โดยจะเน้นทิศทางการลงทุนเมกะโปรเจกต์ทางระบบราง เพราะนับเป็นโครงการตามนโยบายรัฐที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว โครงการแก้ปัญหา Missing Link รวมถึงโครงการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุ นอกจากนั้น จะเดินหน้าเร่งรัดการลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ และความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) จำนวน 7 เส้นทาง เพื่อเพิ่มโครงข่ายระบบราง 1,479 กิโลเมตร และเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายใหม่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ให้แล้วเสร็จตามแผน และเดินหน้าระบบรางสร้างรถไฟฟ้าครบ 500 กิโลเมตร
วันเดียวกัน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเสนอขอการตั้งรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รวม 10 หน่วยงาน ทั้งหมด 69 โครงการ มีวงเงินผูกพันข้ามปีงบประมาณรวมกันกว่า 181,000 ล้านบาท ซึ่งจะผูกพันงบตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาว่างบผูกพันทั้งหมดที่เสนอเข้ามานั้น เป็นไปตามข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่
สำหรับตัวอย่างของโครงการที่เสนอของบผูกพันเข้ามา เช่น กระทรวงคมนาคม เสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 รวม 42 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2575 รวมวงเงิน 91,653.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นของกรมทางหลวง (ทล.) 37 โครงการ 69,877.7 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 3 โครงการ 4,920 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 1 โครงการ 1,500 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 1 โครงการ คือ โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) ปี 2568-2575 วงเงินรวม 15,355.6 ล้านบาท.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่