นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย, สมาคมธนาคารไทย จะนัดหารือกันวันที่ 10 ม.ค. เพื่อร่วมกันประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 67 ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สอดรับกับทิศทางต่างๆ ทั้งแนวโน้มการท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุนทั้งรัฐและเอกชน ที่ยอมรับว่าปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงกดดันการเติบโตของทั้งเศรษฐกิจโลกและประเทศ ไทยอย่างมีนัยสำคัญ
“กกร.ต้องดูตัวเลขสุดท้ายของเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ทยอยประกาศออกมาจากรัฐบาล จึงจะสามารถระบุได้ว่าจะปรับเป้าหมายไปในทิศทางใด ซึ่งยอมรับว่าความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มมีหลายพื้นที่ทั้งในทะเลแดง และล่าสุดในคาบสมุทรเกาหลี เหล่านี้ต้องติดตามใกล้ชิด”
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีเสถียรภาพ และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ควบคู่กับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาโดยเร็ว
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเร่งดูแลค่าครองชีพประชาชน นับเป็นแนวทางที่ดีโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าแต่จะยั่งยืนกว่าหากรัฐบาลปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.)ด้านพลังงาน เพื่อระดมความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อการปรับปรุงโครงสร้าง พลังงานทั้งระบบที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน
นายเกรียงไกร ยังกล่าวถึงกรณีที่ล่าสุดมีการจัดอันดับพาสปอร์ตที่ทรงอิทธิพลในโลก โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก จากเดิมอันดับที่ 65 สะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ ที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก โดยสาเหตุหลักๆอาจมาจากกับดักภาพลักษณ์ของประเทศไทย กับการขายแรงงานข้ามชาติ ทั้งในตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิสราเอล และไต้หวัน รวมทั้งปัญหาทำงานผิดกฎหมาย ทำงานแฝง
“การที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับดังกล่าวเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ยังห่างไกลกันมาก ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาความสามารถทางการแข่งขันโดยเฉพาะการลงทุน เพราะตัว passport ranking มีส่วนในการดึงการลงทุนต่างชาติเข้ามา เช่น สิงคโปร์ที่มีวีซ่าเข้าออกประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มากถึง 192 ประเทศ รองจากญี่ปุ่น อันดับหนึ่งของโลก 193 ประเทศ มาเลเซีย 179 ประเทศ หากรัฐบาลปรับภาพลักษณ์และเร่งพัฒนาประเทศให้หลุดกับดักรายได้ปานกลางก็จะทำให้สิ่งเหล่านี้ดีขึ้น”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่