ตอบโจทย์เศรษฐกิจยั่งยืน “เศรษฐา” หนุนแนวทางพัฒนาตลาดทุน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตอบโจทย์เศรษฐกิจยั่งยืน “เศรษฐา” หนุนแนวทางพัฒนาตลาดทุน

Date Time: 8 ธ.ค. 2566 06:55 น.

Summary

  • นายกฯเศรษฐาประกาศเดินหน้าพัฒนา ดึงศักยภาพตลาดทุน เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ด้าน ก.ล.ต.เผยแผนยุทธศาสตร์ ปี 67–69 มุ่งสร้างความน่าเชื่อถือตลาดทุนไทย เป็นกลไกตอบโจทย์ความยั่งยืนประเทศ

Latest

“โกโก้ร้านไอ้ต้น” แฟรนไชส์สัญชาติไทย ปีเดียว ขยายสาขา 160 แห่งในจีน ความแปลก ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทย” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยนายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับตลาดทุนเป็นอย่างมาก โดยได้วางทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทยที่จะสามารถดึงศักยภาพและประสิทธิภาพของระบบตลาดทุนออกมาได้อย่างเต็มที่ นำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยเห็นโอกาสในการพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

โดยด้านเศรษฐกิจที่ยั่งยืนนั้น ล่าสุดรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง Thailand ESG Fund ที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ระดมทุนและผู้มีเงินออม ควบคู่กับการส่งเสริมด้าน ESG ของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลจะผลักดัน 1.นโยบายการกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว 2.การระดมทุนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และนโยบายการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึง 3.กลไกการเงินสีเขียวและการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยรัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการที่ลดอุปสรรคของการส่งเสริมระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ความเหลื่อมล้ำของภาษี อันจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมกัน ลดภาระแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในฝั่งของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ออกและเสนอขาย (issuer) รวมทั้งผู้ลงทุน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

นายเศรษฐา ยังกล่าวต่อว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านการผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็น investment destination ของภูมิภาค นำมาซึ่งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆที่มากขึ้น โดยรัฐบาลมุ่งเน้นเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศ เขตเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะเร่งเจรจาและขยายเขตการค้าเสรี FTA เปิดตลาดใหม่ๆ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้งส่งเสริมความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในไทยให้กับผู้ลงทุนและธุรกิจต่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลจะนำเสนอข้อมูลการลงทุนของตลาดหุ้นไทย หรือการโรดโชว์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย

ขณะที่นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวถึง “ทิศทางการกำกับและการพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืนของประเทศ” ว่า ภายใต้บริบทปัจจุบันและในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ก.ล.ต.ตั้งเป้าหมาย ยกระดับความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทย (trust & confidence) ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องดำเนินการด้านการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากขึ้น การตรวจจับความผิดปกติได้ทันการณ์และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้รวดเร็วด้วยโทษที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังต้องสอดประสานความร่วมมือกับผู้ร่วมตลาด เพื่อยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องใน value chain ของตลาดทุน โดย ก.ล.ต.เชื่อมั่นว่าการยกระดับทั้งองคาพยพนี้จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้แข็งแกร่งขึ้น เป็นรากฐานในการช่วยบรรเทาผลกระทบและปรับวิกฤติเป็นโอกาส

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังมุ่งผลักดันให้ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่ต่อยอดจากเดิม โดยปรับเปลี่ยนจุดมุ่งเน้น หรือ shift focus เพื่อตอบโจทย์ประเทศในการปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้ำจากการมีความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่าเป้าหมายการสร้างสมดุลระหว่างการกำกับดูแลและการพัฒนาตลาดทุนไทยจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความยั่งยืนของประเทศต่อไป

เลขาธิการ ก.ล.ต.ยังกล่าวว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2567-2569 มุ่งบรรลุเป้าหมายหลัก 4 ด้าน ดังนี้ 1.ตลาดทุนมีความน่าเชื่อถือ (trust and confidence) 2.ตลาดทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 3.ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญสู่ความยั่งยืน (sustainable capital market) 4.ผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้กำหนดให้มีแผนองค์กรนวัตกรรมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ (enabler) ที่จะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนและผลักดันภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ