พบเจอแจ้งปลดออกทันที พาณิชย์สยบขายสินค้าก๊อบปี้บนออนไลน์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พบเจอแจ้งปลดออกทันที พาณิชย์สยบขายสินค้าก๊อบปี้บนออนไลน์

Date Time: 4 ธ.ค. 2566 06:10 น.

Summary

  • “ภูมิธรรม” สั่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ปัญหาขายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ล่าสุดจับมือลาซาด้า ช้อปปี้ ติ๊กต่อก หากเจ้าของสิทธิ์พบวางขายของละเมิด แจ้งเอาออกได้ทันที ด้านเจ้าของลิขสิทธิ์หนัง-เพลงต่างประเทศ สามารถร้องดีอีเอส ขอให้ศาลสั่งปิด “โดเมนเนม” ตัดขาดละเมิดลิขสิทธิ์

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการใช้เป็นช่องทางค้าขายมากขึ้น แต่ก็มีผู้ค้าบางรายนำสินค้าละเมิดมาจำหน่าย ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ขายสินค้าจริง และทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเสียหาย อีกทั้งผู้บริโภคยังอาจได้รับอันตรายจากการใช้สินค้าปลอม จึงต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วพร้อมกันนั้น ขอให้ช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่คิดธุรกิจ ทำธุรกิจขึ้นมาแล้ว พอจะเดินหน้า กลับมีคนนำไปจดก่อน แบบนี้เสียหาย ต้องไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ส่วนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ต้องผลักดันให้จดเพิ่มขึ้น และช่วยหาตลาด เพราะเป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 3 ราย คือ ลาซาด้า ช้อปปี้ และติ๊กต่อก ช็อป และเจ้าของสิทธิ์กว่า 30 ราย เพื่อป้องกันการนำสินค้าละเมิดไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม โดยหากเจ้าของสิทธิ์พบเห็นการนำสินค้าละเมิดไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม ก็สามารถแจ้งให้แพลตฟอร์มเอาออกได้ทันที หากไม่ยอมเอาออกก็ให้แจ้งมาที่กรม จะประสานให้แพลตฟอร์มเอาออกให้

สำหรับเฟซบุ๊กได้ประสานไปแล้ว และได้รับการแจ้งว่า ขณะนี้เฟซบุ๊กกำลังพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆที่จะนำมาใช้จัดการกับการขายสินค้าละเมิด ส่วนการจัดการแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และเพลงนั้น หากเจ้าของสิทธิ์พบเห็นว่ามีการละเมิดทางเว็บไซต์ใด สามารถแจ้งได้ที่กรม หรือแจ้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อให้ทำเรื่องขอศาลให้สั่งปิดเว็บไซต์ หรือ URL นั้นๆ

“ปัจจุบัน เว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์หนัง หรือเพลงของต่างประเทศ มักมีเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ เมื่อศาลสั่งปิดเว็บไซต์ หรือปิดกั้น URL แล้ว ไม่นานก็จะเปิดใหม่ แต่เมื่อเร็วๆนี้ กรมได้หารือกับสมาคมโฆษณา ให้งดโฆษณาบนเว็บไซต์ผิดกฎหมายทั้งหมด เพื่อตัดช่องทางการมีรายได้ นอกจากนี้ จะขอให้เจ้าของสิทธิ์ที่พบเห็นเว็บไซต์ละเมิด แจ้งไปที่ดีอีเอส เพื่อขอให้ศาลสั่งปิดทั้งโดเมนเนม ซึ่งเป็นชื่อหรือที่อยู่ของเว็บไซต์ ซึ่งจะทำให้โดเมนเนมนั้น ไม่สามารถใช้เปิดเว็บไซต์ใหม่ได้อีก”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า ช้อปปี้ และติ๊กต่อก ช็อป ล่าสุด มีการขอให้ระงับรวม 960 รายการ และแพลตฟอร์มได้ระงับรวม 960 รายการ คิดเป็นความสำเร็จ 100% โดยสินค้าที่ละเมิด ส่วนการลบข้อมูล หรือปิด URLs ในช่วง ม.ค.-พ.ย.66 มีคำสั่งปิดไปแล้ว 88 URL และจับกุมสินค้าละเมิดได้ 181 คดี ของกลาง 71,770 ชิ้น มูลค่า 25.6 ล้านบาท.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ