นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคว่าการดูแลราคาอุปโภคบริโภค กรมยังคงใช้วิธีการขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขอให้ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่ง นำสินค้ามาจัดโปรโมชันลดราคาสลับสับเปลี่ยนกันไป เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน และขณะนี้ ยังไม่มีสินค้ารายการใดขอปรับขึ้นราคาเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง นมและผลิตภัณฑ์ รวมถึงกลุ่มอาหารและเครื่องปรุงรส ทั้งปลากระป๋อง ซอสปรุงรส เป็นต้น
“กรมติดตามดูแลสถานการณ์ราคาสินค้าเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว และยังไม่พบความผิดปกติของราคา ซึ่งจะติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้นไปอีก เพราะปีหน้ามีปัจจัยที่ต้องติดตาม ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่สิ้นสุดระยะเวลาลดราคา และเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิต แต่จะดูแลราคาสินค้าให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค”
ทางด้านนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จะหารือกับคณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้พิจารณาการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ว่าจะมีส่วนใดบ้างที่สามารถปรับลดได้เพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ขอยืนยันว่า กระทรวงพยายามบริหารจัดการค่าไฟฟ้ามาโดยตลอด แต่ด้วยสถานการณ์ด้านราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น ก็จะพยายามหาทางลดราคาลงมาให้ได้ที่ระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ หลังจาก กกพ.ได้ประกาศอัตราค่าเอฟที รอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนทุกกลุ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ตามต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้สะท้อนถึงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นการคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรับภาระบางส่วน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลคงอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนทุกประเภทในระดับ 3.99 บาทต่อหน่วยตามเดิม ไม่ควรปรับขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วยในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 โดยระหว่างนี้ให้เร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงาน เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าทั้งระบบ โดยเชื่อว่าหากเร่งจัดตั้งจะมีข้อสรุปถึงโครงสร้างราคาค่าไฟทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวออกมาในไม่ช้านี้ ซึ่งจะเกิดความชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน
“ทุกๆ 4 เดือน ผู้ประกอบการต้องมานั่งลุ้นว่าค่าไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศขึ้น ไม่ทันไรรัฐบาลก็เข้ามาบอกว่าจะดูแลให้ลดลง แม้ว่าจะดูแลก็เข้าใจ แต่อยากให้เห็นถึงทิศทางที่ชัดเจน เพราะถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนักลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ รวมถึงผู้ประกอบการในไทยด้วย”
ทั้งนี้ อัตราค่าไฟเฉลี่ยที่ 3.99 บาท/หน่วยในขณะนี้ หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้า เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มีอัตราที่ต่ำกว่า และหากในงวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย.2567) ที่ กกพ.ระบุจะต้องปรับขึ้นไปเฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจการลงทุนจากต่างชาติได้ขณะที่รัฐบาลก็กำลังเน้นการดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“เมื่อมองเศรษฐกิจในประเทศ ประชาชนก็กำลังประสบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะยิ่งซ้ำเติมค่าครองชีพประชาชน จึงไม่เป็นผลดีต่อกำลังซื้อที่ขณะนี้ก็อ่อนแออยู่แล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ก็ต้องผลักดันให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นซึ่งก็จะย้อนไปกระทบกับประชาชนผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวม”
ที่สำคัญภาคเอกชนไม่ได้หมายถึงว่าค่าไฟฟ้าในระยะยาวจะปรับขึ้นไม่ได้ แต่ที่ผ่านมามองว่าค่าไฟฟ้าของประเทศไทยมีการปรับขึ้นที่แต่ละครั้งก็พบว่าไม่มีความเหมาะสมจากหลายๆตัวแปรที่เป็นต้นทุนบางอย่าง ไม่ควรโยนภาระให้ประชาชนแบกรับ จึงจำเป็นที่จะต้องมี กรอ.พลังงานมาดูโครงสร้างราคาทั้งระบบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่ทำให้ราคาในแต่ละงวดผันผวนจนเกินไปเช่นปัจจุบัน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่