ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการทบทวนการปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2565 จัดเก็บได้ 59,784 ล้านบาท และปี 2566 รัฐเก็บภาษียาสูบได้ 57,683 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 ก่อนปรับขึ้นภาษีครั้งล่าสุดที่อยู่ที่ระดับ 64,199 ล้านบาท คิดเป็นการลดลง 7-10% หรือกว่า 5,000-7,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบุหรี่เถื่อนได้ระบาดรุนแรงขึ้นมาก โดยมีการประเมินตัวเลขการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายที่ปัจจุบันได้เพิ่มเป็น 22% ของการบริโภคบุหรี่ทั้งหมดในประเทศ หรือเกือบ 1 ใน 4 ของบุหรี่ทั้งตลาดแล้ว เทียบกับช่วงก่อนปรับอัตราภาษียาสูบปี 2564 พบว่า สัดส่วนบุหรี่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นถึง 260% จากปี 2563 ที่มีสัดส่วน 6.2%
นอกจากนี้ คาดได้ว่าบุหรี่เถื่อนจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในปี 2566 ราว 25,000 ล้านบาท ซึ่งสูญเสียภาษีที่จะเข้าภาครัฐประมาณ 20,000 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แจ้งว่า ผลการดำเนินงานการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ในช่วง 9 เดือน ปีงบประมาณ 2566 มีรายได้ 31,110 ล้านบาท ต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวม 30,872 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 239 ล้านบาท เทียบกับปี 2560 ก่อนที่จะขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ที่มีรายได้ 46,426 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 39,592 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,834 ล้านบาท.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่