นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการจัดทำฟีดเดอร์ รถสาธารณะเพื่อส่งเสริมการเดินทางระบบรางภายใต้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ว่า จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริษัท รถไฟฟ้า รฟท.จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยที่ประชุมได้มีการประเมินการนำนโยบาย 20 บาท ตลอดสาย พบว่า หลังจากมีนโยบายทำให้ปริมาณคนใช้บริการเพิ่มขึ้น 20% ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องนโยบายของรัฐบาล จึงได้ให้ ขบ. และ บขส.ไปพิจารณาที่จะให้รถร่วม บขส.ที่เดินทางจากฝั่งตะวันตก นำผู้โดยสารมาส่งที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง คลองบางไผ่ ส่วนฝั่งทิศเหนือและที่มาถนนรังสิตนครนายก เซียร์รังสิต ให้รถร่วม บขส.มาส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีรังสิต โดยให้กลับมารายงานภายใน 7 วัน
“จากการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ดังนั้น ทางกระทรวงคมนาคมจึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ บขส.ไปดำเนินการจัดระบบเส้นทางเดินรถของรถร่วม บขส.ที่รับผู้โดยสารจากต่างจังหวัดมายัง กทม.ให้มาเชื่อมต่อกับ สถานีรถไฟฟ้าทั้งฝั่งตะวันตกของ กทม. และสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ทางด้านทิศเหนือของ กทม. ให้มาเชื่อมกับสถานี โดยรถร่วม บขส. ที่เดินทางมาจากจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี ชัยนาท และอยุธยา ให้พิจารณานำผู้โดยสารมาส่งที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง คลองบางไผ่ ส่วนประชาชนที่โดยสารรถร่วม บขส. มาจากทางทิศเหนือ กทม.ที่มาจากถนนรังสิตนครนายกให้ไปเชื่อมต่อเข้ารถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีรังสิต”
นายสรพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้ให้นโยบาย ขบ.ให้ไปปรับเส้นทางรถเมล์ ขสมก. โดยรถที่วิ่งจากสถาบันการศึกษา หรือรถที่วิ่งให้บริการในชุมชน หมู่บ้าน ให้วิ่งไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า โดยเฉพาะสถานีบางบำหรุของรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ปัจจุบันสถานีอยู่ในเส้นทางที่รถเมล์ ขสมก.ไม่เข้าถึงโดยตรง ดังนั้น จึงให้พิจารณา เส้นทางมาเชื่อมต่อ เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่อฟีดเดอร์จากชุมชนมายังสถานีรถไฟฟ้าก็เพื่อลดปริมาณรถที่จะเดินทางเข้าเมือง และเพิ่มความถี่รถฟีดเดอร์ให้เข้าสถานีถี่มากขึ้น เช่น จาก 30 นาทีเป็นทุก 10 นาที ซึ่งจากการทดลองฟีดเดอร์เส้นทางจากมหาวิทยาลัยรังสิต หรือจากหมู่บ้านเมืองเอก ไปยังสถานีหลักหก พบว่า จากเดิมมีคนใช้บริการฟีดเดอร์ 1,000 คน ได้เพิ่มเป็น 1,500 คน ทำให้เห็นว่า ฟีดเดอร์ตอบโจทย์ ดังนั้น จึงมีนโยบายให้พิจารณามีฟีดเดอร์ทุกสายในการเชื่อมชุมชนมายังเมือง.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่