พื้นที่ ห้าง-ศูนย์การค้า กทม. ทะลัก 7.6 ล้าน ตร.ม. “วัน แบงค็อก-ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" เตรียมเปิด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

    พื้นที่ ห้าง-ศูนย์การค้า กทม. ทะลัก 7.6 ล้าน ตร.ม. “วัน แบงค็อก-ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" เตรียมเปิด

    Date Time: 12 ต.ค. 2566 11:30 น.

    Video

    วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

    Summary

    • พื้นที่ “ห้าง-ศูนย์การค้า” ทั่วกรุง ทะลัก 7.6 ล้าน ตร.ม. จับตา 4 อภิมหาโปรเจกต์ ของบิ๊กทุน นับถอยหลัง เปิดให้บริการปีหน้า รับเทรนด์ท่องเที่ยวฟื้น ตั้งแต่ วัน แบงค็อก-ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค-ดิ เอ็มสเฟียร์ และ แบงค็อก มอลล์

    Latest


    แม้ภาคการท่องเที่ยวของไทย ยังโตได้ ไม่เทียบเท่า ช่วงปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 40 ล้านคน แต่สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังโควิด-19 ผ่อนคลาย ก็ทำให้ “วงการค้าปลีก” ของไทย มีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น

    ข้อมูล ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับมา 80% จากช่วงก่อนโควิด ส่งผล ความต้องการเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ กลับมาอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะ กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มเสริมความงาม หมูกระทะ ชาบู สุขภาพ และ Wellness 

    แง่ซัพพลาย พบแค่ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ กลางปี 2566 มีพื้นที่ อสังหาฯ ในกลุ่มค้าปลีก ทั้งสิ้น มากถึง 7.6 ล้าน ตารางเมตร ซึ่งแม้การเปิดโครงการใหม่ยังไม่มากนัก แต่สิ่งที่ต้องจับตามอง คือ โครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ บนทำเลทอง อีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง  

    โครงการ “วัน แบงค็อก” มูลค่าลงทุนสูงสุดในไทย 

    เจาะอภิมหาโปรเจกต์ยักษ์ โครงการ “วัน แบงค็อก” มูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท (สูงที่สุดในประเทศไทย) บนเนื้อที่รวม 108 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณ หัวมุมถนนวิทยุ และถนนพระราม 4 พัฒนาโดย เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด และ ทีซีซี (กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) ซึ่งถูกยกเป็น แหล่งช็อปปิ้งอัจจริยะ ประสบการณ์ใหม่ระดับไฮเอนด์กลางเมือง 

    พบมีองค์ประกอบสำคัญ คือ พื้นที่ค้าปลีก (รีเทล) มากถึง 4 โซน รวมพื้นที่กว่า 190,000 ตร.ม. เชื่อมต่อกัน นอกจากภายในโปรเจกต์ ยังจะมีส่วนที่เป็นอาคารสำนักงานเกรดเอ 5 อาคาร โรงแรมลักชัวรี่และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์หรูอีก 5 แห่ง โครงการที่พักอาศัย 3 โครงการ และพื้นที่จัดแสดง งานอีเวนต์ อีก 2 แสน ตร.ม. โดยเฟสแรกจะเปิดบริการในช่วงปีหน้า 

    โครงการ แบงค็อก มอลล์ 100 ไร่ 

    โครงการ แบงค็อก มอลล์ (Bangkok Mall) โดยกลุ่ม เดอะมอลล์กรุ๊ป เป็นอีกโปรเจกต์ใหญ่ ที่คาดจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการค้าปลีกไทย ด้วยมูลค่าโครงการ 50,000 ล้านบาท พื้นที่ขนาดใหญ่ บนถนนเทพรัตน ตรงข้ามศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ตรงจุดตัดถนนบางนา-ตราด กับสุขุมวิท เนื้อที่กว่า 100 ไร่ 

    ส่วนประกอบสำคัญ คือ ห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่รวม 80,000 ตารางเมตร โรงภาพยนต์ นับกว่า 30 โรง พื้นที่สวนสนุก สวนน้ำ โครงการที่พักอาศัย สำนักงาน และโรงแรม ฮอลล์แสดงคอนเสิร์ต และกิจกรรมบันเทิง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งมือก่อสร้าง กำหนดแล้วเสร็จ ปี 2567 เช่นกัน เพื่อหวังรองรับกำลังซื้อคนไทย และคนต่างชาติ 

    กลุ่มเซ็นทรัล ปลุกห้างใหม่ โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค 

    นับเป็นการพลิกโฉมพื้นที่ที่น่าจับตามองมากที่สุด สำหรับ โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ถือเป็นอีกหนึ่ง การลงทุนพัฒนาโครงการ รูปแบบมิกซ์ยูส ครั้งประวัติศาสตร์ จาก 'โรงแรมดุสิตธานี' สู่ อสังหาฯ โฉมใหม่ บนพื้นที่หัวมุมถนนสีลม-พระราม 4 มูลค่ากว่า 46,000 ล้านบาท จากการร่วมลงทุนระหว่าง กลุ่มดุสิต และกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา 

    พบแผนพัฒนา มีทั้งส่วนที่เป็น ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และโครงการที่พักอาศัยระดับหรู ซึ่งล่าสุด กลุ่มเซ็นทรัล ประกาศใช้แบรนด์ใหม่  “Central Park” ในการผลักดันพื้นที่ห้างของโปรเจกต์ดังกล่าว ซึ่งศูนย์การค้า Central Park จะมีขนาดพื้นที่ 130,000 ตร.ม. และเตรียมเปิดให้บริการ ไตรมาส 3 ปี 2568

    โครงการดิ เอ็มสเฟียร์ ห้างใหม่กลางเมือง

    ขณะอีกโปรเจกต์ ที่จะเข้ามาเขย่าวงการห้างไทย คือ ดิ เอ็มสเฟียร์ (THE EMSPHERE) ซึ่งนับถอยหลัง เปิดให้บริการในช่วงปลายปีนี้ มีพื้นที่รวม กว่า 200,000 ตร.ม. จากการพัฒนาของกลุ่ม เดอะมอลล์ กรุ๊ป เช่นเดียวกัน บนทำเลทองที่สุด ย่านสุขุมวิทกลางเมือง จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของโครงการ ดิ เอ็ม ดิสทริค 

    โดย ดิ เอ็มสเฟียร์ ถูกยกเป็นศูนย์การค้าแห่งอนาคต บนพื้นที่โครงการมากกว่า 200,000 ตารางเมตร ด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท 

    ทั้งนี้ จากการรวบรวมตัวเลขผลประกอบการของผู้ประกอบการศูนย์การค้าชั้นนำของประเทศไทย ของไนท์แฟรงค์ พบว่า รายได้โดยรวมฟื้นตัวอยู่ในระดับ 87% ของช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ส่วนการทำกำไรโดยรวมนั้นฟื้นตัวอยู่ที่ระดับ 76% สำหรับผลประกอบการ ปี 2566 คาดว่าจะฟื้นตัวได้ใกล้เคียงกับปี 2562


    Author

    กองบรรณาธิการ

    กองบรรณาธิการ