ผวา “เงินบาท” อ่อนค่าแรง ป่วน ราคาน้ำมัน-พลังงาน ดันเงินเฟ้อกระทบต้อง “ขึ้นดอกเบี้ย” อีก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

    ผวา “เงินบาท” อ่อนค่าแรง ป่วน ราคาน้ำมัน-พลังงาน ดันเงินเฟ้อกระทบต้อง “ขึ้นดอกเบี้ย” อีก

    Date Time: 3 ต.ค. 2566 15:35 น.

    Video

    โลกร้อน ทำคนจนกว่าที่คิด "คาร์บอนเครดิต" โอกาสในเศรษฐกิจโลกใหม่

    Summary

    • เปิดมุมมอง เอกชน เมื่อ “เงินบาท” อ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผลกระทบ 4 เด้ง ที่ชวนผวา! นำเข้าน้ำมันแพง - ราคาสินค้าพุ่ง - เร่งเงินเฟ้อ กระทบชิง อาจต้องขึ้นดอกเบี้ย อีกระลอก ผู้ประกอบการแบกต้นทุนหลังแอ่น ย้ำ ค่าเงินผันผวน สะท้อนเศรษฐกิจไทย กำลังมีปัญหา

    Latest


    “เงินบาทอ่อนค่า” หนักมาก กลายเป็นประเด็นร้อน ของเศรษฐกิจไทยวันนี้ จนลากให้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดตลาดช่วงเช้า ติดลบถึง 25 จุด ดิ่งในรอบ 3 ปี โดยค่าเงินบาทล่าสุด ณ เวลา 14.00 น. บาทไทยอยู่ที่ 37.124 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่า อ่อนที่สุดในรอบ 11 เดือน ที่ผ่านมา 

    ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เงินบาทอ่อนค่าในระยะนี้ จากข้อมูลของฝ่ายวิเคราะห์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มาจาก 4 ปัจจัย ด้วยกัน ได้แก่ 

    • บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 16 ปี
    • ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว รวดเร็ว
    • กระแสเงินทุนไหลออก พบตั้งแต่ 1 ก.ย.-28 ก.ย. ที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ ในตลาดหุ้นไทยไปแล้วมากกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ขณะพันธบัตรถูกเทขาย 3.5 หมื่นล้านบาท
    • เงินบาทอ่อนค่า ยังมาจาก ความกังวลของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ต่อความไม่มั่นใจ ฐานะการคลังของรัฐบาล จากแนวโน้ม การก่อหนี้ใหม่ เพื่อดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่าง การแจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท สวนทางการเติบโตของ GDP ไทย ที่หลายฝ่าย พากันหั่นคาดการณ์ลง โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทย อาจโตได้ไม่เกิน 3% 

    หากเปรียบ “เงินบาท” เป็นสินค้า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ "เงินบาทอ่อนค่า" ได้บ้าง?


    ทั้งนี้ หากอธิบายให้เข้าใจมากขึ้น ถึงปรากฏการณ์ ค่าเงินอ่อนค่า หรือ แข็งค่า ได้อย่างไร? ข้อมูล จากเพจ ติดเล่า เรื่องลงทุน อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ

    โดยมีการเปรียบเทียบ หยิบยก ว่า “เงิน” ก็เหมือนกับสินค้าทั่วๆ ไป ฉะนั้น เงินบาท ไม่ต่างจาก สินค้าชนิดหนึ่ง ส่วน เงินดอลลาร์ ก็เป็นสินค้าอีกหนึ่งชนิด เพียงแต่ทั้ง 2 สิ่งนี้ สามารถนำมาแลกเปลี่ยนในตลาดเดียวกันได้ 

    เปรียบ ถ้า ณ เวลานั้น คนอยากได้ “เงินบาท” ของไทย มากๆ และนำเงินดอลลาร์มาแลก ก็จะทำให้ค่าของเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หรือจะบอกว่า เงินบาทมีมูลค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์นั่นเอง

    • เมื่อความต้องการเงินบาทมาก ราคาก็จะสูง ส่งผล “เงินบาทแข็งค่า”
    • เมื่อคนอยากได้เงินบาทมาก ผ่านการขายเงินสกุลอื่นๆ ออก เพื่อซื้อเงินบาท ก็จะส่งผลให้ “เงินบาทแข็งค่า” เช่นกัน 

    อีกตัวแปรที่สำคัญ คือ “อัตราดอกเบี้ย” โดย ดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้คนอยากฝากเงินบาทเพิ่มขึ้น เกิดการแลกเงินสกุลอื่นๆ มาเป็นเงินบาท นี่ก็ทำให้เกิดภาวะ เงินบาทแข็ง แต่ในทางตรงกันข้าม หาก “ดอกเบี้ยต่ำ” คนไม่อยากฝากเงินบาท แต่กลับ มีการแลกเงินบาท ไปถือสกุลเงินอื่นๆแทน ก็จะทำให้เกิด “เงินบาทอ่อน” 

    ซึ่งกรณี เงินบาทวันนี้ อ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ ยังเกี่ยวข้องกับ ปัจจัย การไหลของเงินระหว่างประเทศด้วย เช่น ไทยนำเข้าเยอะ จำเป็นต้องแลกเงินบาท เป็นสกุลเงินอื่น ไปซื้อของนั้นๆ ก็ทำให้ “เงินบาทอ่อน” 

    ขณะเดียวกัน ทิศทางเงินบาท ยังมาจาก ปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย เช่น นโยบายการเงิน เช่น การถูกคว่ำบาตร, โรคระบาด, การก่อการร้าย, การเมือง, การใช้นโยบายการเงินล้มเหลว หรือเงินสกุลอื่นแข็งหรืออ่อน

    ซึ่งทั้งหมดนี้ ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะนำเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะ หากช่วงไหน พบนโยบายการเงินล้มเหลว ก็จะเป็นการเปิดช่องว่างในการโจมตีค่าเงิน ที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน 

    เงินบาท ผันผวน กระทบการนำเข้า 

    เปิดสถิติ 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- ก.ย.2566) เงินบาทไทย อ่อนค่า ลงมาแล้วกว่า 4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จาก ค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค.2566 อยู่ที่ 32.840 บาทต่อดอลลาร์ สู่ ตัวเลขทะลุ 37 บาท ในวันนี้ 

    ขณะย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว ค่าเงินบาทไทย เคยอ่อนค่าหลุดไปแตะที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ จนหวั่นว่าอาจได้เห็นตัวเลข 39 บาทต่อดอลลาร์ และสร้างความปั่นป่วนให้กับการนำเข้า-ส่งออกมาแล้ว ฉะนั้น ค่าเงินบาทวันนี้ ที่ทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ ไม่ต่างจาก ไฟเหลืองกะพริบ ส่งสัญญาณเตือนอีกครั้ง! โดยเฉพาะ ผลกระทบที่จะตามมามากมาย 

    ThairathMoney เจาะสัมภาษณ์ ผู้นำภาคธุรกิจ “เกรียงไกร เธียรนุกุล “ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้ที่คอย ส่งสัญญาณเตือน ถึงหายนะ ความผันผวนของค่าเงิน มาโดยตลอด ถึงความน่ากังวลใหม่ เกี่ยวกับ สถานการณ์ค่าเงินบาทไทย 

    โดย ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า ปัญหาค่าเงินบาทอ่อนค่า ที่ทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และความผันผวนของค่าเงินอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก หรือนำเข้า ก็ต่างมีความกังวล แม้เงินบาทที่อ่อนลง โดยปกติ จะเป็นอานิสงส์ กับผู้ส่งออก ทำให้แข่งขันได้ดีขึ้น แต่ ณ เวลานี้ มองว่า คงเป็นประโยชน์ไม่มากนัก เพราะอุปสงค์ทั่วโลก อยู่ในภาวะซึม คำสั่งซื้อสินค้าจากไทย ไม่ได้มากมายอย่างในอดีต 

    เชิงบวกที่จะเกิดขึ้นหนึ่งเดียว คือ อานิสงส์ในภาคการท่องเที่ยว เพราะค่าเงินบาทไทย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของเขาลดลง ซื้อของได้ถูกลง เชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นนั่นเอง 

    แต่ผลกระทบจากค่าเงินบาทอ่อน ที่น่ากังวล คือ ภาคการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าเครื่องจักร หรือวัตถุดิบ ทำให้ เราต้องใช้เม็ดเงินสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกเว้น กลุ่มที่นำเข้าวัตถุดิบ และผลิตเพื่อส่งออกขายต่างประเทศ 

    หวั่นนำเข้า ราคาน้ำมันพุ่ง เพราะเงินบาทอ่อน 

    ทั้งนี้ ผลกระทบสูงสุด อาจเป็นราคาน้ำมัน และพลังงาน โดยประธาน ส.อ.ท. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีการนำเข้าน้ำมันสูงถึงวันละ 1 ล้านบาร์เรล เพราะฉะนั้น วันนี้ ไทยกำลังตกอยู่บนความเสี่ยง 2 เรื่อง ได้แก่ 

    ปัจจุบัน ราคาน้ำมันในตลาดโลก เริ่มกลับมาทรงตัวในระดับสูง โดยปัจจุบัน มากกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และโอกาสที่ราคาน้ำมันโลกจะไปแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็มีมาก เนื่องจาก แถบยุโรป กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว และ มีความต้องการใช้พลังงานสูง ย่อมส่งผลให้ ราคาน้ำมันแพงขึ้น 

    เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกแพง มาเจอกับค่าเงินบาทของไทย ที่อ่อนค่าเช่นนี้ ทำให้ไทยต้องนำเข้าน้ำมัน ในต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากจะมีผลต่อค่าไฟ เพราะใช้พลังงานผลิต ยังต้องจับตา ค่าขนส่งสินค้า ที่จะเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันปรับ ซึ่งปลายทาง คือ ปัญหา “เงินเฟ้อ” ที่เราอาจต้องเจอ 

    “เรากังวล ค่าเงินที่ผันผวน ว่า กำลังเป็นปัญหาใหญ่ อยากให้ทุกฝ่ายติดตามอย่างใกล้ชิด”

    เมื่อค่าเงิน มาเจอดอกเบี้ย ผู้ประกอบการจะอยู่อย่างไร? 

    ขณะความน่ากังวลเพิ่มเติม ยังถูกขยายความ จากแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีวี่แวว ว่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ขณะนี้ระหว่างดอกเบี้ยไทย กับ ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ห่างกันอยู่ประมาณ 3% ซึ่งถือเป็นความถ่างที่ใหญ่มาก แม้ล่าสุด กนง.เพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยไทย มาอยู่ที่ 2.50% ก็ตาม 

    ซึ่งดอกเบี้ยสหรัฐฯ ดึงให้ ค่าเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลกดิ่งลง จากนักลงทุน หอบเงินกลับไปสหรัฐฯ เพราะผลตอบแทนสูงกว่า เกิดภาพผลกระทบในตลาดทุน ตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร แต่ดูเหมือนประเทศไทย จะได้รับผลกระทบเยอะกว่า 

    “ภาพรวมแล้ว ค่าเงินทั่วโลก สวนทางกับสหรัฐฯ แต่ไทยผลกระทบต่างออกไป เพราะเรานำเข้าเยอะ โดยเฉพาะ การนำเข้าน้ำมัน และพลังงานนี่เอง ที่ทำให้ค่าเงินอ่อน จะกระทบต่อราคาสินค้าในอนาคต”

    ค่าเงินผันผวน เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจเปราะบาง

    ประธาน ส.อ.ท. ยังหวั่นว่า แนวโน้มค่าเงินบาท อาจอ่อนค่าลงอีก คล้ายภาพที่เคยเกิด ความผันผวนในช่วงปี 2565 ที่ไทย เกือบเอาไม่อยู่ เมื่อครั้ง ค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใกล้แตะ 39 บาทต่อดอลลาร์มาแล้ว ซึ่งสถานการณ์ ณ ขณะนี้ ก็มีความคล้ายกันอยู่ จาก 36 บาท สู่ 37 บาท ในเวลารวดเร็ว ซึ่งลึกลงไป อาจกำลัง บ่งบอกถึงความเปราะบางของระบบการเงิน และเศรษฐกิจไทย 

    “เมื่อปีที่แล้ว ไทยเกิดภาวะค่าเงินผันผวนอย่างมาก แข็งเร็ว /อ่อนเร็ว ถ้าเปรียบเป็นคน คนคนนี้ มีสุขภาพไม่ค่อยดีนัก เศรษฐกิจกำลังมีปัญหาหรือไม่? เพราะเปราะบางเหลือเกิน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เห็นว่า ไทยอาจต้องเร่งแก้ไข และรื้อโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย ออกมาดูแลทั้งหมดหรือไม่?”

    ทั้งนี้ นักวิเคราะห์การเงิน จากสำนักต่างๆ ระบุ ช่วงนี้ นักลงทุน ควรระมัดระวัง ความผันผวนของเงินบาท และให้เฝ้าจับตามอง รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 21.00 น.ค่ำนี้ เพราะหากยอดตำแหน่งงานเปิดรับปรับตัวลดลง หรือออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟด หรือ แนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน 


    Author

    กองบรรณาธิการ

    กองบรรณาธิการ