ครม.ไม่ท้อส่งไทยสู่ฐานผลิตอีวี เดินหน้า 2 มาตรการดึงค่ายรถไฟฟ้ายุโรป

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.ไม่ท้อส่งไทยสู่ฐานผลิตอีวี เดินหน้า 2 มาตรการดึงค่ายรถไฟฟ้ายุโรป

Date Time: 17 พ.ค. 2566 09:10 น.

Summary

  • ครม.เดินหน้ามาตรการ EV 3.5 ในส่วนที่ไม่ต้องใช้เงินสนับสนุน โชว์ต่างชาติไทยยังสนับสนุน หวังดึงค่ายรถยุโรปใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถอีวี โดยให้สามารถปรับเปลี่ยนซีรีส์ของรถที่ผลิตในประเทศไม่ตรง

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

ครม.เดินหน้ามาตรการ EV 3.5 ในส่วนที่ไม่ต้องใช้เงินสนับสนุน โชว์ต่างชาติไทยยังสนับสนุน หวังดึงค่ายรถยุโรปใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถอีวี โดยให้สามารถปรับเปลี่ยนซีรีส์ของรถที่ผลิตในประเทศไม่ตรงกับรถที่นำเข้าได้ และรถอีวีที่นำเข้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท อาจผลิตรถกระบะอีวีทดแทนรุ่นที่นำเข้ามาได้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ตามมติคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ในส่วนของมาตรการ EV 3.5 ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนอีวีรอบใหม่ โดยมาตรการที่ ครม.รับทราบในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) ที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ ส่วนมาตรการที่ต้องใช้งบประมาณสนับสนุนอยู่ในแพ็กเกจ EV 3.5 จะต้องให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมจากทำเนียบรัฐบาล ว่า แต่เดิมรัฐบาลตั้งใจที่จะเดินหน้ามาตรการ EV 3.5 แต่เนื่องจากยุบสภาไปก่อน ทำให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาไม่ทัน จึงต้องหยุดรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา เพราะมีมาตรการในส่วนที่รัฐบาลต้องใช้เงินสนับสนุน เช่น การส่งเสริมการตั้งโรงงานแบตเตอรี่วงเงิน 24,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีความจำเป็นต้องแสดงให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่ายังคงสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวี ในที่ประชุม ครม.ครั้งนี้ จึงได้นำมาตรการที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ 2 มาตรการเสนอให้ ครม.รับทราบก่อน โดยได้นำประเด็นที่กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร มาปรับปรุงมาตรการให้ยืดหยุ่นมากขึ้น กรณีที่อนุญาตให้นำรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) จากต่างประเทศเข้ามาขายในไทยได้ โดยมีเงื่อนไขในการผลิตรถอีวีในประเทศตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมาตรการนี้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดอีวี เมื่อเดือน ก.ย.2565 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ 2 มาตรการ ประกอบด้วย 1.กำหนดให้กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ต้องผลิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือ กระบะ ประเภท BEV รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชยการนำเข้า 2.กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 kWh ขึ้นไป ซึ่งกำหนดให้ต้องผลิตชดเชยรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้า หากมีกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิได้นำเข้ารถยนต์รุ่นที่ได้รับสิทธิและผลิตชดเชยรุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้นำเข้าและได้รับสิทธิ แม้จะมีเลขซีรีส์ที่ต่างกัน ถือเป็นการผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับมาตรการในส่วนนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ 2 อย่าง อย่างแรกสำหรับค่ายรถยนต์ที่มีการเปลี่ยนรุ่นและซีรีส์ในการผลิตรถอยู่เป็นระยะ เช่น กรณีของค่ายรถเบนซ์ หรือ BMW อาจนำเข้ารถอีวีที่เป็นซีรีส์ปัจจุบันเข้ามาขาย แต่เมื่อจะผลิตชดเชยในประเทศจะต้องผลิตรถรุ่นใหม่กว่าเดิม หรือรถที่มีการเปลี่ยนซีรีส์แล้วซึ่งเงื่อนไขแบบนี้จะจูงใจให้ค่ายรถยนต์สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในเงื่อนไขที่ระบุในการผลิตรถอีวีทดแทนการนำเข้าได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขจากเดิมที่ต้องผลิตรถอีวี เหมือนกับที่นำเข้าให้เป็นการผลิตรถกระบะไฟฟ้าทดแทนได้เช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการผลิตรถกระบะไฟฟ้าให้กลายเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนเหมือนที่สามารถผลิตรถกระบะจนส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ บอร์ดอีวีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เปิดส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและการผลิตชิ้นส่วน รวมทั้งกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า ขณะที่กรมสรรพสามิตได้กำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 12 ราย ประกอบด้วย ผู้ผลิตรถยนต์และรถกระบะ จำนวน 9 ราย (GWM, TOYOTA, SAIC- MOTOR, MG, BYD, BENZ, NETA, MINE และ GREEN FILTER) และผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 3 ราย (HONDA, DECO และ HSEM) ขณะเดียวกัน สำนักงบประมาณได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้าง และการเช่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้แทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งาน และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 123 มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ได้คุณภาพ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ