มท.ประกวดผ้าลายพระราชทาน ต้องทอมือเท่านั้น "สมัคร" ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 พ.ค.-4 ส.ค.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มท.ประกวดผ้าลายพระราชทาน ต้องทอมือเท่านั้น "สมัคร" ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 พ.ค.-4 ส.ค.

Date Time: 3 เม.ย. 2566 05:04 น.

Summary

  • มหาดไทยน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สู่ความยั่งยืน ปลัด มท.แถลง ข่าวจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เชิญชวนกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย

Latest

รัฐเริ่มแจกเงินหมื่นผู้สูงอายุ 27 ม.ค. ทุนระดับโลกรุมลงทุน “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”

มหาดไทยน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สู่ความยั่งยืน ปลัด มท.แถลง ข่าวจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เชิญชวนกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายทั่วประเทศ ส่งผลงานตั้งแต่ 1 พ.ค.-4 ส.ค.2566 ที่มณฑาทิพย์ ฮอลล์ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 2 เม.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านผ้าไทย นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE ร่วมกับนักออกแบบชื่อดังของไทย ร่วมแถลงข่าวโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2566

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งในการริเริ่มอนุรักษ์ พัฒนาผ้าไทย ตลอดจนทรงสนับสนุน ส่งเสริม และทรงเป็นต้นแบบในการนำผ้าไหมไทยมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ขณะที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีพระปณิธานที่มุ่งมั่น สืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับและส่งเสริมให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของผ้าไทย และพระราชทานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทรงมุ่งหวังช่วยเหลือพสกนิกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยทรงนำองค์ความรู้ทางวิชาการที่ทรงศึกษา ทั้งแฟชั่นสมัยใหม่ ศิลปะ การตลาด มาต่อยอด และมีตัวอย่างความสำเร็จ เช่น แบรนด์ขวัญตาของอ๋อย-สุมามาลย์ เต๊จ๊ะ ที่สามารถน้อมนำพระราชดำริ มาทำให้เกิดเป็นผืนผ้าที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ตามแฟชั่นสมัยใหม่สอดคล้องความต้องการของตลาด อีกสิ่งที่สำคัญที่พระองค์ได้พระราชทานไว้คือเรื่องความรู้และการคำนึงถึงความยั่งยืนของโลก ทรงทำให้ผ้าไทยในทุกวันนี้ได้ช่วยรักษาโลกใบนี้ ทรงสอนให้เราใช้สีธรรมชาติ ใช้วัสดุธรรมชาติ ไม่ใช้เส้นไหม เส้นฝ้ายจากโรงงาน ด้วยพระอัจฉริยภาพดังกล่าว จึงเกิดเป็น Sustainable Fashion หรือ แฟชั่นแห่งความยั่งยืน

ขณะที่นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” มีเป้าหมายกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 5,000 ชิ้น ร่วมโครงการฯ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ดำเนินการพัฒนาผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-4 ส.ค.นี้ ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร โดยจะมีการตัดสินรอบก่อนรองชนะเลิศ ภาคกลางระหว่างวันที่ 18-19 ส.ค. ภาคใต้ระหว่างวันที่ 25-26 ส.ค. ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 1-2 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 8-10 ก.ย. กรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย.จากนั้นเป็นการตัดสินระดับประเทศ รอบรองชนะเลิศวันที่ 30 ก.ย. และรอบตัดสินระดับประเทศ วันที่ 31 ต.ค.นี้

ด้านนายธนันท์รัฐกล่าวว่า หลักเกณฑ์การประกวด ผู้สมัครต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้า หรือช่างงานหัตถกรรมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าประกวด และผ้าที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผ้าทอมือหรือทำจากมือเท่านั้น ไม่รับพิจารณาผ้าที่ทอจากกี่กระตุกหรือระบบอุตสาหกรรม โดยต้องเป็นผ้าที่ตัดจากกี่ ไม่ผ่านการซักอบรีดหรืออาบน้ำยาเคมีใดๆทั้งสิ้น ยกเว้น ผ้าบาติก/ผ้าพิมพ์ลาย/ผ้ามัดย้อม และไม่รับพิจารณาผ้าที่เย็บเป็นถุง/เย็บริมผ้าด้วยจักร และผู้ที่ส่งผ้าและงานหัตถกรรมเข้าประกวดต้องเป็นไหมพันพื้นบ้านหรือฝ้ายเข็นมือ และต้องระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างละเอียด ทั้งนี้ สามารถนำลายโบราณของแต่ละท้องถิ่นมาผสมผสานกับผ้าลายพระราช ทาน “ลายดอกรักราชกัญญา” ได้ทุกประเภท ส่วนการส่งชิ้นงานเข้าประกวด ในรอบระดับภาค ให้บรรจุหีบห่อได้ตามความเหมาะสม เช่น บรรจุผ้าลงในถุงซิปใสหรือม้วน พร้อมแนบใบสมัคร ในการรับสมัครระดับจังหวัด ให้ผู้สมัครส่งผลงานผ้าหรืองานหัตถกรรมให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด พร้อมกรอกรายละเอียดแนวคิดในการทำบรรจุภัณฑ์ และเรื่องเล่าในใบสมัคร ยังไม่ต้องส่งบรรจุภัณฑ์จริง หากชิ้นงานผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ผู้สมัครต้องส่งบรรจุภัณฑ์จริง และเรื่องเล่ามาเพิ่มเติม เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาให้คะแนนในลำดับต่อไป ทั้งนี้ เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก กรมการพัฒนาชุมชน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ