เช็กอุณหภูมิเมืองไทยร้อนปรอทแตก สสน.เตือนสถานการณ์ "น้ำ ปริมาณฝน ภัยแล้ง" ปี 2566

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เช็กอุณหภูมิเมืองไทยร้อนปรอทแตก สสน.เตือนสถานการณ์ "น้ำ ปริมาณฝน ภัยแล้ง" ปี 2566

Date Time: 3 เม.ย. 2566 07:01 น.

Summary

  • หลังจากที่ “กรมอุตุนิยมวิทยา” ได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปี 2566 มาตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และจะยาวนานไปสิ้นสุดช่วงกลางเดือน พ.ค. โดยคาดปีนี้จะร้อนกว่าปีที่แล้ว

Latest

“โกโก้ร้านไอ้ต้น” แฟรนไชส์สัญชาติไทย ปีเดียว ขยายสาขา 160 แห่งในจีน ความแปลก ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

หลังจากที่ “กรมอุตุนิยมวิทยา” ได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปี 2566 มาตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และจะยาวนานไปสิ้นสุดช่วงกลางเดือน พ.ค. โดยคาดปีนี้จะร้อนกว่าปีที่แล้ว อุณหภูมิร้อนที่สุดจะสูงถึง 40-43 องศาเซลเซียส ในช่วงปลายเดือน มี.ค.-เม.ย.ซึ่งจะร้อนแรงแสบผิวแค่ไหน เชื่อว่าคนไทยคงได้สัมผัสกันแล้วถ้วนหน้า

“ฝนฟ้า” ที่ดูเหมือนว่าจะตกลงมาน้อยกว่าปกติ ทำให้คนบางกลุ่มเริ่มกังวลถึงสถานการณ์ “ภัยแล้ง” ว่าจะเกิดขึ้นซ้ำซากในประเทศไทยเหมือนหลายต่อหลายปีที่ผ่านมาหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผลการศึกษาขององค์กร “German watch” จากประเทศเยอรมนี ที่ไม่แสวงหากำไรและสนใจเรื่องการค้าอาหาร นโยบายการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ได้ออก “ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index-CRI)” โดยผลการศึกษาประจำปี 2564 พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก จากทั้งหมด 180 ประเทศ

“ทีมข่าวเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.สุทัศน์ วีสกุล” ผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. หน่วยงานหลักที่เก็บรวบรวมข้อมูลน้ำของประเทศ ซึ่งเป็น “คลังข้อมูลแห่งชาติ” และมีหน่วยงานมากกว่า 60 หน่วยงานนำไปใช้วางแผนบริหารจัดการน้ำ เกี่ยวกับสถานการณ์ฝน และน้ำของไทยในปีนี้

เพื่อให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดมาตรการช่วยเหลือประชาชน และเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที

ปี 66 ส่อเกิดปัญหาภัยแล้งบางพื้นที่

ดร.สุทัศน์ฉายภาพให้เห็นสถานการณ์ฝนปีนี้ว่า จากการติดตามสถิติปริมาณน้ำฝนของไทยเฉลี่ย 30 ปี (ปี 2524-2553) และดัชนีมหาสมุทร (ค่าระดับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่ต่างไปจากค่าปกติ ที่ล้อมประเทศไทย 3 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก (ONI) มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งเหนือ (PDO) และมหาสมุทรอินเดีย (DMI) พบว่า

ดร.สุทัศน์ วีสกุล
ดร.สุทัศน์ วีสกุล

“ปี 66 มีโอกาสที่ปริมาณฝนเท่าค่าเฉลี่ย (1,500 มิลลิเมตร) ส่วนปีถัดไปมีโอกาสน้อยกว่าค่าเฉลี่ย และอาจเกิดภัยแล้ง หากปีนี้ไม่ระวังใช้น้ำที่มีอยู่ (น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ)”

แต่เมื่อพิจารณาเชิงพื้นที่ พบว่าภาคกลาง ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ปริมาณฝนอาจน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

และเมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่า เดือน มี.ค. มีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย อาจเกิดพายุฤดูร้อนบ่อยครั้ง โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งพื้นที่นอกเขตชลประทาน ควรกักเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อเตรียมรับมือ เพราะจะเกิดฝนทิ้งช่วง 2 ครั้งระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค.

ขณะที่เดือน ส.ค. มีแนวโน้มที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบนจะมีร่องมรสุมพัดผ่าน และอาจมีพายุ 1 ลูก ทำให้ฝนยังมากกว่าค่าเฉลี่ย และเดือน ก.ย.ที่ปกติมีฝนมากสุดในรอบปีนั้น ในปีนี้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้ตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก อาจมีฝนน้อยกว่าปกติ และอาจกระทบต่อน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งปี 66–67 ดังนั้น ในเขตพื้นที่ชลประทานควรใช้น้ำอย่างระมัดระวัง

ส่วนเดือน ต.ค. จะมีฝนมากอีกครั้ง ขณะที่เดือน พ.ย.-ธ.ค. พื้นที่ภาคใต้ จะมีฝนน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จึงควรกักเก็บน้ำสำรองไว้ในแหล่งน้ำเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์เช่นกัน

“ปีนี้ฝนน้อยจนเกิดภัยแล้งหรือไม่ ยังไม่สรุป แต่น้อยลงแน่นอน เช่น เดือน ก.ค. คาดการณ์น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 13% เดือน ก.ย. ก็คาดจะน้อยกว่าปกติ ส่วนภาคใต้ คาดจะน้อยกว่าเฉลี่ยถึง 20-30%”

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงมาก ส่วนปริมาณน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้เหลือ 9,200 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอใช้แบบปีต่อปี

“ส่วนปีหน้าหากพิจารณาตามสถิติ มีโอกาสที่ฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย และอาจเกิดภัยแล้งได้ ขณะนี้ต้องใช้น้ำอย่างระมัดระวัง เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอสำหรับทั้งเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร และรักษาระบบนิเวศ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงหน้าแล้งปีหน้าไปได้อย่างไม่ลำบาก”

ดัชนีเปราะบางภัยแล้งชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง

ทั้งนี้ สสน. ได้พัฒนาระบบติดตามดัชนีเปราะบางภัยแล้ง และพยากรณ์ภัยแล้งมาตั้งแต่ปี 58 โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อชี้เป้าพื้นที่ภัยแล้ง และเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และวางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมในปี 62 เพื่อติดตามภัยแล้งจากปริมาณน้ำฝน ที่เรียกว่า ดัชนีภัยแล้งด้านอุตุนิยมวิทยา ซึ่งถ้าฝนน้อย แสดงว่า น้ำน้อย ต่อมาปี 65 ได้ปรับปรุงให้ละเอียดมากขึ้น สามารถแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ในระดับตำบล จากเดิมระดับจังหวัด หรือที่เรียกว่า ดัชนีภัยแล้งด้านการเกษตร

เพราะเล็งเห็นว่า พื้นที่ด้านการเกษตรของไทยกว่า 80% อยู่นอกเขตชลประทาน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงภัยแล้งมากหากฝนตกน้อย โดยใช้ปัจจัยอื่นๆมาประกอบการพยากรณ์ เช่น ความชื้นในดิน ดัชนีพรรณพืช และอุณหภูมิพื้นผิว ซึ่งจะดูความหนาแน่นของพืชในแต่ละพื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม ถ้าน้ำไม่มี พืชจะไม่สมบูรณ์ หรือพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงๆ พืชอาจขาดน้ำได้

“สสน.เป็นหน่วยงานแรกที่ทำดัชนีเปราะบางภัยแล้งได้แบบละเอียด ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ถึงระดับตำบล โดยแสดงผลแต่ละพื้นที่เป็น 5 ระดับ คือ น้อยมาก น้อย ปานกลาง สูง และสูงมาก ขณะนี้มีความแม่นยำ 50-60% ยังต้องพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

เนื่องจากยังมีข้อด้อย เช่น การใช้อุณหภูมิพื้นผิว อาจตีความผิดพลาดได้ เพราะช่วงฤดูเก็บเกี่ยว มีการเผาตอซังข้าว ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด และมีไฟป่า ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงกว่าปกติ และเกิดภัยแล้งเทียมได้

สำหรับดัชนีเปราะบางภัยแล้งนี้ สสน.นำขึ้นเว็บไซต์ thai water.net และส่งให้หน่วยงานต่างๆ เช่น กรมบรรเทาสาธารณภัย กรมฝนหลวง กรมชลประทาน ศูนย์ข้อมูลน้ำจังหวัด ฯลฯ พิจารณาการช่วยเหลือเกษตรกร และประชาชนได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่ผลผลิตจะเสียหาย หรือเดือดร้อนหนัก อีกทั้งยังทำให้วางแผนบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงส่งให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อแจ้งเตือนสมาชิก ทำให้วางแผนการเพาะปลูกได้ดีขึ้น ลดความเสียหายของผลผลิตได้ดีขึ้น

“ตั้งเป้าหมายปรับปรุงดัชนีภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เตือนภัยได้ละเอียดขึ้น โดยจะทำเป็นดัชนีภัยแล้งด้านอุทกวิทยา ที่เอาตำแหน่งของอ่างเก็บน้ำมาวิเคราะห์ดัชนีภัยแล้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยจะดูสุขภาพ คุณภาพพืช ถ้าสุขภาพ คุณภาพไม่ดี ก็จะขายไม่ได้ หรือขายไม่ได้ราคา”

แผนบริหารจัดการน้ำชุบชีวิตชุมชน

“ดร.สุทัศน์” กล่าวอีกว่า นอกจาก สสน.จะเป็น “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ” แล้ว ยังช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศให้สามารถ “บริหารจัดการน้ำ” ได้ด้วยตนเอง เพิ่มน้ำต้นทุน มีน้ำสำรองไว้ใช้ ช่วยให้วางแผนเพาะปลูกได้ง่ายขึ้น ลดความเสียหายของผลผลิต สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

“สสน.ช่วยชุมชนให้บริหารจัดการน้ำได้เองมาตั้งแต่ปี 55 เริ่มจาก 50 ชุมชน 236 หมู่บ้าน ลดอุทกภัยและภัยแล้งได้ 19,370 ครัวเรือน พื้นที่ 143,147 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำสำรองได้ 2.3 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุดปี 65 ชุมชนต้นแบบเพิ่มขึ้นไม่มากอยู่ที่ 60 ชุมชน เพราะต้องการให้ชุมชนไปสร้างเครือข่ายชุมชนใกล้เคียง แต่หมู่บ้านเพิ่มขึ้นเป็น 1,827 หมู่บ้าน ลดอุทกภัยและภัยแล้งได้กว่า 7 แสนครัวเรือน พื้นที่ 3.95 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำสำรอง 120 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มผลผลิตในฤดูแล้งได้ 3,900 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณรัฐที่ใช้ชดเชยความเสียหายให้เกษตรกรได้เกือบ 8,000 ล้านบาท”

“เพราะ “น้ำคือชีวิต” เมื่อมีน้ำ ประชาชนก็ทำมาหากิน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ได้ตลอดปี ขายผลผลิต และมีรายได้ตลอดปี สสน. และชุมชนต้นแบบ ยังคงช่วยกันขยายผลความสำเร็จไปสู่ชุมชนอื่นๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายสุทัศน์กล่าวทิ้งท้าย.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ