พาณิชย์ป่วน “เหล็กไทย” ช็อก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พาณิชย์ป่วน “เหล็กไทย” ช็อก

Date Time: 21 ก.พ. 2566 06:42 น.

Summary

  • อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศถึงกับช็อก เมื่อกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก หวั่นอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเสียศูนย์และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศถึงกับช็อก เมื่อกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก หวั่นอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเสียศูนย์และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ วอนรัฐทบทวนต่ออายุมาตรการ

โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ประกาศว่าคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดฯ ซึ่งมี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 มีมติให้ยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ Anti-Dumping (AD) สินค้าเหล็กจากประเทศทุ่มตลาดใหญ่ของโลก ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนจากตุรกี บราซิล อิหร่าน และเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบโลหะเจือของอะลูมิเนียม (GL) จากเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กใหญ่สุดอันดับ 8, 9, 10 และ 13 ของโลกตามลำดับ

นางสาวกรรณิการ์ ยมจินดา นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อน กล่าวว่า รู้สึกกังวลใจกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน กระทรวงพาณิชย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลที่ยื่นต่อกรมการค้าต่างประเทศ พบว่าทั้ง 3 ประเทศคือ ตุรกี บราซิล และอิหร่าน ยังคงมีพฤติกรรมการทุ่มตลาดโดยยังคงมีการบังคับใช้ของประเทศต่างๆทั่วโลก อีกทั้งยังมีกำลังการผลิตส่วนเหลืออีกเป็นจำนวนมากกว่า 13 ล้านตัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเพิ่มปริมาณการส่งออก รวมถึงกลับมาทุ่มตลาด และสร้างความเสียหายแก่ผู้ผลิตในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมายและเคยใช้ในการพิจารณาต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเสมอมา สำหรับการนำเข้าที่ลดลงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับประเทศทั่วโลกที่มีการใช้มาตรการ AD และไม่ได้เป็นเหตุให้พิจารณายุติมาตรการ ดังเช่นที่ประเทศไทยยังคงถูกสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนมาเกือบ 20 ปีทั้งๆที่ไม่มีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และประเทศข้างเคียงมาเกือบ 10 ปีแล้ว

นอกจากมาตรการ AD 3 ประเทศนี้แล้ว ขณะนี้ยังมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศคือจีนและมาเลเซีย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ด้วย โดยจีนเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กใหญ่ที่สุดของโลก และมาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กใหญ่อันดับ 19 ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งมีการผลิตเหล็กคิดเป็นสัดส่วน 54% ของทั้งโลก และเป็นประเทศที่มีพฤติกรรมทุ่มตลาดสินค้าเหล็กอย่างรุนแรงจนถูกบังคับใช้มาตรการ AD จากทั่วโลก เนื่องจากมีทั้งพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม และมีความสามารถในการส่งออกสินค้าทุ่มตลาดไปทั่วโลก ซึ่งสมาคมฯคาดหวังว่ากระทรวงพาณิชย์จะไม่ยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน และมาเลเซีย ดังเช่นกรณีประเทศตุรกี บราซิล อิหร่าน ที่มีร่างผลออกมาแล้วนี้

“สมาคมฯขอวอนให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาทบทวนผลการพิจารณาต่ออายุการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กทั้ง 2 กรณี จากประเทศจีน มาเลเซีย ตุรกี บราซิล และอิหร่าน มิฉะนั้นการทุ่มตลาด และความเสียหายฟื้นคืนมาอย่างแน่นอน”

ด้าน นายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ผลิตท่อและแปรรูปเหล็กแผ่น กล่าวว่า หากกระทรวงพาณิชย์ยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก จะส่งผลให้สินค้าเหล็กนั้นยิ่งทุ่มตลาดทะลักเข้ามายังประเทศไทย และส่งผลเสียหายและกระทบต่อทั้งห่วงโซ่ การผลิต เนื่องจากสินค้าทุ่มตลาดจะมาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตในประเทศ และสร้างความเสียหายจนผู้ประกอบการในประเทศต้องปิดกิจการล้มหายไป จากนั้นเมื่อไม่มีอุตสาหกรรมภายในประเทศ การกำหนดราคาก็จะถูกควบคุมโดยผู้ส่งออกรายหลักนั้นๆ

“สมาคมผู้ผลิตท่อฯ ซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กรายใหญ่ของประเทศจึงขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กที่มีอยู่ เพื่อรักษาความมั่นคงของห่วงโซ่การผลิตของประเทศ รวมถึงเป็นไปตามนโยบายการสนับสนุนการใช้สินค้าในประเทศของรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม”

ขณะที่ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ได้เคยทำงานวิจัยโครงการศึกษาผลกระทบจากการใช้เหล็กในประเทศ และต่างประเทศต่อเศรษฐกิจไทยร่วมกับทางสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2564 พบว่าอุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของการผลิต มูลค่าจีดีพี มูลค่าและจำนวนการจ้างงาน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน หากส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้นจะสามารถช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นได้ 0.66% ถึง 0.75% จากการเติบโตปกติ

แต่ทั้งนี้หากต้องการให้เกิดการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ รวมถึงการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มาตรการทางการค้าก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยสามารถสู้กับสินค้าจากประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกดังเช่นประเทศจีนได้

“ดังนั้น การยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจะส่งผลในเชิงลบกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการพิจารณาข้อเท็จจริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย”

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ